แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) มิได้บัญญัติไว้ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยยกขึ้นอุทธรณ์ไว้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีใจความสำคัญว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์โดยมิชอบและขอให้ยกเลิกการประเมินดังกล่าว การที่โจทก์กล่าวอ้างในชั้นศาลถึงการส่งหมายเรียกและการกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถูกต้องนั้น ก็เป็นเหตุผลที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการประเมินภาษีดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง จึงเป็นการกล่าวอ้างในเรื่องเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว
ที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการเสียภาษีอากรมาไต่สวนภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 นั้น ใช้เฉพาะกรณีที่มีการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ แต่กรณีที่ไม่ยื่นรายการตามมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ ดังนี้ แม้หมายเรียกจะออกมาเกิน 5 ปี และระบุทั้งมาตรา19 และ 23 มาด้วยก็หาทำให้การประเมินขาดอายุความไม่
รอบระยะเวลาบัญชีของห้างหุ้นส่วนโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคมถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจตรวจสอบในเรื่องรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์จากแบบที่โจทก์ยื่นเพื่อเสียภาษีในปีก่อน ๆ ได้ และเจ้าพนักงานประเมินย่อมเข้าใจว่ารอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์เป็นไปตามปกติคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมและสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ทั้งการประเมินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการคำนวณภาษีซ้ำซ้อนกันหรือต้องทำให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่ประการใด การประเมินภาษีอากรจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2522 และ 2523 ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ยกปัญหาเรื่องจำเลยส่งหมายเรียกเพื่อไต่สวนให้โจทก์โดยมิชอบ และปัญหาเรื่องจำเลยกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์ไม่ถูกต้องในการประเมินภาษีรายนี้ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นศาลได้นั้น เห็นว่าตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น โจทก์อุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ประจำปี 2522และ 2523 โดยมิชอบ และขอให้ยกเลิกการประเมินดังกล่าว การที่โจทก์กล่าวอ้างในชั้นพิจารณาของศาลถึงการส่งหมายเรียกและการกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถูกต้องนั้น ก็เป็นเหตุผลที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่าการประเมินภาษีดังกล่าวไม่ชอบนั่นเองซึ่งถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างในเรื่องเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพียงแต่อาศัยสาเหตุแตกต่างกันไปเท่านั้น ทั้งประมวลรัษฎากรมาตรา 30 (2) ก็บัญญัติเพียงว่าให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์มิได้บัญญัติไว้เลยว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยออกหมายเรียกมาไต่สวนเกินระยะเวลา 5 ปี จึงไม่ชอบตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรและทำให้การประเมินภาษีสำหรับปี 2522 และ 2523 ขาดอายุความนั้นเห็นว่ามาตราดังกล่าวบัญญัติเฉพาะกรณีที่มีการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ แต่กรณีของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่ยื่นรายการตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ ดังนั้น แม้หมายเรียกเอกสารหมาย จ.26 จะออกเกินกำหนด 5 ปี และระบุทั้งมาตรา 19 และ 23 มาด้วยก็หาทำให้การประเมินขาดอายุความไม่
สำหรับปัญหาในเรื่องรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามคำให้การของนายธงชัยหมายล.2 ซึ่งให้การต่อนางแสงนวลนั้นปรากฏว่านายธงชัยได้ให้การว่าโจทก์เริ่มประกอบกิจการเมื่อปลายปี 2521 นายธงชัยจำไม่ได้ว่าได้ยื่นแบบเพื่อชำระภาษีประจำปี 2522 ถึง 2523หรือไม่ตามคำให้การดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเลย ทั้งนายธงชัยก็มิได้ให้การไว้เลยว่ารอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์นั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมถึงวันที่ 30กันยายน ดังนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยจึงไม่อาจตรวจสอบในเรื่องรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์จากแบบที่โจทก์ยื่นเพื่อเสียภาษีในปีก่อน ๆ ได้ทั้งเจ้าพนักงานย่อมเข้าใจว่ารอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์เป็นไปตามปกติคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินภาษีของโจทก์โดยคิดตามรอบระยะเวลาบัญชีปกติจึงเป็นการชอบแล้วทั้งเป็นการประเมินภาษีที่ตรงกับเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุมูลค่าสินค้าที่โจทก์ส่งออกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ในปี 2522 และ 2523 นอกจากนี้การประเมินภาษีโดยคำนวณตามรอบระยะเวลาบัญชีตามปกติก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการคำนวณภาษีซ้ำซ้อนกันหรือต้องทำให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่ประการใดการประเมินภาษีอากรตามฟ้องจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.