คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและไม่จำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึ่งว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 224,336 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกำแพงเพชร และจำเลยทั้งสามมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในมูลละเมิด ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 สถานที่ที่มูลคดีเกิดรวมทั้งภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์ระบุในคำฟ้องว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 181/1-5 ถนนสรวศ์ แขวงสุริยวงค์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น แต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3 ไม่อาจกระทำได้ เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าไม่พบภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ตามฟ้อง โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 เป็นบ้านเลขที่ 499/9-11 หมู่ที่ 3 อาคารเบญจินดา ชั้น 4 ถึงชั้น 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นสืบพยานเสร็จแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง จำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปความได้ว่า จำเลยที่ 3 เคยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตบางรัก เมื่อโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจตุจักร และจำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นจะต้องตรวจพิจารณาคำฟ้องอีกครั้ง หากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ ก็ชอบที่จะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ศาลชั้นต้นเพิกเฉย จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว อีกทั้งโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริต การที่ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้วหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์เสนอคำฟ้องโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 แม้ต่อมาโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 โดยภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขใหม่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าขณะโจทก์เสนอคำฟ้องนั้นจำเลยที่ 3 มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อาจเปลี่ยนภูมิลำเนาภายหลังที่โจทก์เสนอคำฟ้องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคดีก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏแน่ชัด จะอ้างว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและไม่สั่งจำหน่ายคดีหาได้ไม่ นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็ได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นขณะโจทก์เสนอคำฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นโดยสุจริตหรือไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 มิได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลที่รับคำฟ้องพิจารณาถึงความสุจริตของผู้เสนอคำฟ้อง หากเป็นกรณีที่โจทก์เสนอคำฟ้องผิดเขตอำนาจศาล การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจึงหาเป็นการไม่ชอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่”
พิพากษายืน

Share