คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล. ซึ่งได้รับสิทธิเข้าทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินของกระทรวงการคลังและมีสิทธิให้เช่าช่วงได้ ทำสัญญาให้โจทก์เข้าก่อสร้างและได้รับผลประโยชน์แทน จำเลยบุกรุกเข้าไปอยู่ในอาคารรายพิพาทที่โจทก์มีสิทธิจากการก่อสร้างโจทก์ดำเนินคดีหาว่าจำเลยบุกรุก แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันโดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์บางส่วนก่อน และจะชำระให้อีกจำนวนหนึ่งภายในกำหนดสามเดือนหากถึงกำหนดไม่ชำระให้ถือว่าตกลงเลิกสัญญา ให้โจทก์คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยให้แก่จำเลยในวันที่จำเลยออกไปจากอาคาร และหากจำเลยไม่ยอมออกไปต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์วันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะได้ออกไป ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวแล้วถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีผลบังคับตามกฎหมาย
แม้ต่อมาจะปรากฏว่ากระทรวงการคลังบอกริบเอาอาคารรายพิพาทเป็นของกระทรวงการคลัง ล. หรือโจทก์หมดสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากอาคารนั้นไปแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งสมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วนั้นต้องเสียไป เพราะเป็นเรื่องผูกมัดระหว่างโจทก์จำเลยเท่านั้น การที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว หาใช่เป็นการพ้นวิสัยไม่
สัญญาระหว่าง ล. กับโจทก์ ที่ ล. ให้โจทก์เข้าก่อสร้างแทนแล้วให้ได้ผลประโยชน์ในการทำแทนนั้น โดยแท้จะมีผลอย่างใดก็ตามแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำการก่อสร้างให้กับ ล. แทนที่ ล. จะต้องทำเอง และ ล. ทำสัญญายกประโยชน์ที่จะได้จากการก่อสร้างนั้นให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้ทำและครอบครองอยู่ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการทำแทนหรือเพื่อจะส่งมอบแก่ ล. ซึ่งโจทก์จะใช้อ้างบังคับให้ ล. มอบประโยชน์จากการที่ทำเสร็จนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยได้แย่งเข้าอยู่ในอาคารที่ก่อสร้างโดยพลการเป็นการขัดขวางเรื่องการส่งมอบนั้นเสีย ย่อมเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน (ระงับข้อพิพาท) ย่อมมีผลบังคับได้ จะยกเอาสัญญาภายในระหว่าง ล. กับโจทก์มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ที่ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นมิได้
จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพราะกลัวโทษทัณฑ์จากคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องหาว่าบุกรุกนั้นความกลัวเช่นว่านี้ไม่ทำให้สัญญาที่ทำไว้ตกเป็นโมฆียะหรือเสียไป เพราะโจทก์ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อโรงศาลยุติธรรมโดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดไว้ว่า หากจำเลยไม่ออกไปจากอาคารรายพิพาทต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะออกไป ค่าเสียหายนี้พอนับเนื่องได้ว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้เมื่อเห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้นายเลื่อนเป้าเป็นผู้ทำการก่อสร้างในที่ดินของกระทรวงการคลัง และให้เช่าช่วงได้ 20 ปี นายเลี่ยนเป้าได้รับความยินยอมให้รับโจทก์เข้าปลูกสร้าง โจทก์จึงมีสิทธิทำการก่อสร้างและให้เช่าช่วง จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในตึกเลขที่ 286/31 ซึ่งเป็นอาคารก่อสร้างรายนี้โดยไม่มีอำนาจ โจทก์แจ้งความดำเนินคดี ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วแถลงต่อศาลแขวงอุดรธานีว่า จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์แล้ว 80,000 บาท อีก 50,000 บาท จำเลยจะชำระให้โจทก์ภายในสามเดือน ถึงกำหนด ถ้าจำเลยไม่ชำระ ให้ถือว่าเลิกข้อตกลงนี้ โจทก์ยินดีคืนเงิน 80,000 บาทให้จำเลยในวันที่จำเลยออกไปจากตึกที่อยู่ หากจำเลยไม่ยอมออกต้องใช้ค่าเสียหายวันละ 100 บาท ครั้นถึงกำหนด โจทก์แจ้งให้จำเลยออกและมารับเงิน จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่ และส่งมอบตึกแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 100 บาทตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2507 จนกว่าจะออกไป

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยหลงผิดว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ประกอบกับกลัวความผิดอาญา จึงตกลงกับโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิและอำนาจใด ๆ ห้องพิพาทตกเป็นของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังอนุญาตให้จำเลยเช่าแล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ห้องพิพาทหลุดตกเป็นสิทธิของกระทรวงการคลังและจำเลยเช่าจากกระทรวงการคลัง การที่จะขับไล่จำเลยกลายเป็นพ้นวิสัย พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2507 ถึง 14 มีนาคม 2509 คำขออื่นให้ยก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าเสียหายด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สารสำคัญอันหนึ่งของคำฟ้องในเรื่องนี้ก็คือโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้องนั้น โดยว่าจำเลยได้ตกลงยอมความไว้เมื่อคราวโจทก์หาว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปอยู่ในอาคารที่โจทก์มีสิทธิและผลประโยชน์จากการปลูกสร้างอันเป็นอาคารห้องที่พิพาทในคดีนี้นั่นเอง จำเลยตกลงยอมไว้ว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์อีก 50,000 บาท ในกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่ตกลง หากถึงกำหนดไม่ชำระให้ถือว่าตกลงเลิกสัญญาที่ยอมให้จำเลยอยู่ในอาคารตึกที่พิพาทนั้นต่อไป เป็นอันให้โจทก์คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยแล้ว80,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันที่จำเลยออกจากตึกรายพิพาท และเมื่อจำเลยต้องออก แล้วยังไม่ได้ออกไป ก็ให้จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยวันละ 100 บาท จนกว่าจะได้ออกไป ตามคำให้การของจำเลยก็ให้การรับรองไว้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์ดังนี้จริง สัญญาที่จำเลยรับรองว่าทำไว้จริงนี้ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มีผลบังคับตามกฎหมายที่จำเลยต้องผูกพันทำตามสัญญานั้น แม้ในชั้นหลังต่อมานี้จะปรากฏว่าห้องรายพิพาทนั้นกลายเป็นห้องที่กระทรวงการคลังบอกริบเอาเป็นของกระทรวงการคลัง คือ นายเลี่ยนเป้าหรือโจทก์หมดสิทธิที่จะถือเอาประโยชน์จากห้องรายพิพาทนั้นไปแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญายอมความที่สมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วนั้นต้องเสียไปเพราะเป็นเรื่องผูกมัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น การที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญายอม หาใช่เป็นการพ้นวิสัยตามความเห็นของศาลชั้นต้นไม่ ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างนายเลี่ยนเป้ากับโจทก์ ที่นายเลี่ยนเป้าให้โจทก์เข้าก่อสร้างแทนแล้วให้ได้ผลประโยชน์ในการเข้าทำแทน เป็นสัญญาที่ผูกพันระหว่างโจทก์กับนายเลี่ยนเป้า ไม่ผูกพันมาถึงคนภายนอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิในห้องพิพาทนั้น เห็นว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับนายเลี่ยนเป้านั้น โดยแท้แล้วจะมีผลอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำการก่อสร้างให้กับนายเลี่ยนเป้า แทนที่นายเลี่ยนเป้าจะต้องทำเอง และนายเลี่ยนเป้าทำสัญญายกประโยชน์จากการที่นายเลี่ยนเป้าจะได้จากการก่อสร้างนั้นให้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ได้จัดทำขึ้นแล้ว แต่จำเลยได้แย่งเข้าไปอยู่โดยพลการ จึงย่อมเป็นข้อโต้แย้งขึ้นได้แล้วว่า โจทก์ได้ทำและครอบครองอยู่ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแทนหรือเพื่อจะส่งมอบแก่นายเลี่ยนเป้า ซึ่งโจทก์จะได้ใช้อ้างบังคับให้นายเลี่ยนเป้ามอบประโยชน์จากการที่ทำเสร็จนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยเข้ามาขัดขวางเรื่องการส่งมอบนั้นเสีย ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่า อย่างน้อยที่สุดข้อพิพาทเดิมของโจทก์จำเลยได้มีมูลอยู่จริง สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันใหม่นี้จึงย่อมมีผลได้ทั้ง ๆ ที่ข้อพิพาทเดิมนั้นจะไม่แน่นอนว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิตามกฎหมายกันแท้จริงเพียงไร โดยเหตุฉะนี้ จึงเห็นว่าจะหยิบยกเอาเรื่องสัญญาภายในระหว่างนายเลี่ยนเป้ากับโจทก์มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ที่ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ได้

ข้อที่จำเลยเถียงว่า จำเลยตกลงทำสัญญายอมเพราะกลัวต่อโทษทัณฑ์จากคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องหาว่าบุกรุกนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความกลัวดังนั้นไม่ทำให้สัญญายอมที่ทำไว้ต้องตกเป็นโมฆียะหรือเสียไป เพราะโจทก์ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อโรงศาลยุติธรรมโดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา ความกลัวอย่างนี้ หากจะมีจริง ก็ไม่ทำให้สัญญายอมนั้นเสียไปได้

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชำระเงิน 50,000 บาทในกำหนด อันเป็นผลที่จะต้องออกไปจากตึกรายพิพาท และใช้ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับให้โจทก์ในฐานที่ไม่ออกไปซึ่งคิดได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2507 เป็นต้นไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายในการที่จำเลยไม่ออกดังที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น พอนับเนื่องได้ว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้เมื่อเห็นสมควรสำหรับในเรื่องนี้เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นมูลเดิมชักนำให้จำเลยเข้าไปอยู่ในห้องพิพาทและทั้งปรากฏว่าโจทก์เองก็รับเงินของจำเลยไปแล้วถึง 80,000 บาทอันปรากฏอยู่ตามสัญญาถ้าหากจำเลยจะยอมให้เงินอีก 50,000 บาททันในกำหนด โจทก์ก็ย่อมได้ประโยชน์เต็มตามความประสงค์ และขับไล่จำเลยไม่ได้ จึงเห็นว่าถ้าลดเบี้ยปรับนั้นลงเหลือเป็นวันละ 35 บาท ก็พอสมควรกับรูปเรื่อง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับให้โจทก์วันละ 35 บาทนับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2507 จนกว่าจะออกไป แต่จำเลยมีสิทธิตามสัญญายอมที่จะได้รับเงินคืนจากโจทก์ 80,000 บาท ในวันที่ออกไปจากตึกพิพาท

Share