คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 เป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะให้นายจ้างออกใบสำคัญการทำงานโดยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะออกใบสำคัญการทำงานด้วยข้อความใด ๆ ตามความประสงค์ของนายจ้างให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่นายจ้างย่อมไม่มีสิทธิระบุข้อความลงในใบสำคัญการทำงานว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดด้วยวิธีใดและสาเหตุใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โดยจ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่ง และจำเลยทั้งสองตกลงจะออกใบสำคัญการทำงานแก่โจทก์ ต่อมาในชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ออกใบสำคัญการทำงานให้โจทก์ฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2542 โดยรับรองว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย ช่วยงานฝ่ายกิจการพิเศษ และพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โดยคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลาง รวมระยะเวลาทำงาน 3 ปี 8 เดือน

โจทก์ยื่นคำแถลงว่า หนังสือรับรองแสดงการทำงานที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ ระบุตำแหน่งงานโจทก์ที่ถูกปรับลดและรูปแบบการเลิกจ้าง อันเป็นข้อความที่เป็นผลร้ายต่อโจทก์ ชอบที่จะรับรองการทำงานโจทก์เฉพาะตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและรวมระยะเวลาการทำงานเท่านั้น

จำเลยยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ในลักษณะเดียวกับที่ออกให้พนักงานคนอื่น เป็นข้อความตามความจริงเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การงานและเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองออกใบสำคัญการทำงานโดยมีข้อความรับรองตำแหน่งงานที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ทุกตำแหน่งเพื่อแสดงว่างานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร รวมเป็นเวลานานเท่าไร ส่วนเรื่องที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เมื่อไร ด้วยวิธีใด และสาเหตุใดไม่ใช่ข้อความจำเป็นที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับรองหรือกล่าวถึง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิระบุข้อความว่าได้เลิกจ้างโจทก์ เมื่อใดด้วยวิธีใดและสาเหตุใดลงในใบสำคัญการทำงานได้โดยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า “เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะให้นายจ้างออกใบสำคัญการทำงานโดยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง กรณีจึงหาใช่เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะออกใบสำคัญ การทำงานด้วยข้อความใด ๆ ตามความประสงค์ของนายจ้างให้ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ ดังนั้นจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิระบุข้อความลงในใบสำคัญการทำงานว่าได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อใดด้วยวิธีใดและสาเหตุใด

พิพากษายืน

Share