คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานรัฐวิสาหกิจมีอำนาจฟ้องรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534เสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2516 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 หัวหน้าฝ่ายผลิตโรงงานยาสูบ 5 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2534 เป็นเวลาเกินกว่า 5 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร โจทก์เห็นว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ ฝผล.100001/250/2534ของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างถูกเลิกจ้าง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่าย นับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน1,404,606.70 บาท เงินบำเหน็จจำนวน 83,697.32 บาท ค่าชดเชยจำนวน 43,531.20 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน1,209.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายดังกล่าวนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น เป็นการอ้างกฎหมายว่าด้วยอำนาจศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาล การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติเสียก่อน ซึ่งเดิมกฎหมายสารบัญญัติคือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้รับรองสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ ต่อมามีพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ “มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) ราชการส่วนกลาง (2) ราชการส่วนภูมิภาค (3) ราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา (4) กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (5) ฯลฯ” โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ซึ่งกำหนดขั้นตอนไว้ว่าโจทก์ต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เมื่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณาแล้ว หากโจทก์ยังไม่พอใจโจทก์ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อีกชั้นหนึ่งก่อน มิใช่ว่าเมื่อมีกรณีเกิดเรื่องขึ้น โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางได้ทันที ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้โจทก์ละทิ้งการงานเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เสียก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ และฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยขาดงานละทิ้งหน้าที่การงานไปเป็นเวลา 5 วัน ทำงานติดต่อกันตามฟ้อง เป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควร กรณีไม่เป็นความผิดตามระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ข้อ 6.4ของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2.1 ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการฟ้องต้องอาศัยกฎหมายสารบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 รับรองอำนาจหรือสิทธิของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างหาจำต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีกไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534แม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534แต่ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share