คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าทรัพย์ให้จำเลยเฝ้าบ้านแต่ห้องเก็บทรัพย์เจ้าทรัพย์ใส่กุญแจไว้ จำเลยชวนผู้อื่นมาทำการลักทรัพย์โดยใช้เชือกคล้องถอดหน้าต่างให้เปิดออก แล้วปีนป่ายเขาทางช่องหน้าต่าง ซึ่งมิใช่ช่องทางสำหรับให้คนไปมา และลักทรัพย์ในห้องเก็บทรัพย์ ดังนี้ ถือได้ว่ เจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในห้องเก็บทรัพย์ ซึ่งจำเลยสมคบกันเข้าไปทำการลักจำเลยจึงย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหะสถานตามมาตรา 255(1) ด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเคหะสถานตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 294 (1) แม้จะมิได้บรรยายคำว่า “เจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้เข้าไป” ไว้ด้วยก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความตามฟ้องประกอบกันทั้งหมดแล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่าห้องเรือนอันเป็นทีอยู่อาศัย (เคหะสถาน)ของเจ้าทรัพย์ ซึ่งจำเลยสมคบกันเข้าไปทำการลักทรัพย์ เจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปได้ ก็ย่อมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 158 แล้ว
ฟ้องของโจทก์กล่าวในครั้งแรกว่า จำเลยบังอาจเข้าไปโดยใช้เชือก คล้อง(ถอด) กลอนหน้าต่างให้เปิดออก แล้วปีนป่ายเข้าไปในทางช่องหน้าต่างอันมิใช่ช่องทางสำหรับคนไปมา และในครั้งหลังต่อต่อมาก็ว่า บังอาจเข้าไปในห้องเก็บทรัพย์นี้ โดยปีนป่ายเข้าไปทางช่องหน้าต่าง อันมิใช่างสำหรับให้คนไปมาเช่นกัน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า ถ้าเป็นการเข้าไปโดยได้รับอนุญาต ก็คงไม่ต้องบังอาจปีนป่ายเข้าทางช่องทางหน้าต่างเช่นนั้น จึงพอเข้าใจได้ว่าเป็นการเข้าไปในโดยมิได้รับอนุญาต ฟ้องจึงสมบูรณ์พอเพียงตามความประสงค์ของป.ม.วิ.อาญามาตรา 158 แล้วว่า ฟ้องโจทก์หาว่า จำเลยสมคบกันลักทรัพย์ในเคหะสถานตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 294(1)
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2495

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์ โดยมีพวกในเวลาค่ำคืน และโดยกิริยาปีนป่าย ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๙๓ ที่ไม่ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหะสถาน เพราะนายสงวนจำเลยเป็นผู้เฝ้าบ้าน และเป็นผู้ชวนจำเลยอีก ๒ คนมา รูปคดีไม่เข้าลักษณะลักทรพย์ในเคหะสถาน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้แม้จะได้รับว่าเจ้ทรัพย์ให้นายสงวนจำเลยเฝ้าบ้าน อันเป็นสถ่นที่เกิดเหตุลักทรัพย์รายนี้ และนายสงวนจำเลยเป็นผู้ชักชวนจำเลยอื่นเข้ามาทำการลักทรัพย์ ก็ปรากฎว่าห้องที่เก็บทรัพย์เจ้าทรัพยใส่กุญแจไว้ มิปรากฎว่ามอบกุญแจไว้แก่นายสงวนจำเลย ๆ จึงต้องหาอุบายถอดกลอนหน้าต่าง และปีนป่ายเข้าทางช่องหน้าต่าง ซึ่งมิใช่ช่องทางสำหรับให้คนไปมา ถือได้ว่า เจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในห้องเก็บทรัพย์ ซึ่งจำเลยสมคบกันเข้าไปทำการลัก จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหะสถานด้วย
ส่วนข้อที่ว่า ฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ เพราะมิได้บรรยายคำว่า “เจ้าทรัพย์ มิได้อนุญาตให้เข้าไป” ไว้ด้วยก็ดี แต่เมื่ออ่านข้อความตามฟ้องของโจทก์ประกอบกันทั้งหมดแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ห้องเรียนอันเป็นที่อยู่อาศัย(เคหะสถาน) ของเจ้าทรัพย์ ซึ่ง จำเลยสมคบกันเข้าไปได้ เพราะฟ้องของโจทก์
ได้กล่าวว่าในครั้งแรกจำเลยบังอาจเข้าไปโดยใช้เชือกคล้อง(ถอด)กลอนหน้าต่างให้เปิดออก แล้วปีนป่ายเข้าไปทางช่องหน้าต่าง อันมิใช่ช่องทางสำหรับให้คนไปมา และในครั้งหลังต่อมา ก็ว่าบังอาจเข้าไปในห้องเก็บทรัพย์นี้ โดยปีนป่ายเข้าไปในช่องทางหน้าต่าง อันมิใช่ทางสำหรับให้คนไปมาเท่ากัน ถ้าเป็นการเข้าไปโดยได้รับอนุญาติ ก็คงไม่ต้องบังอาจปีนป่ายเข้าทางช่องหน้าต่างเช่นนั้น จำเลยเองก็เข้าใจข้อหานี้ได้ดี จึงได้แถลงข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับข้อหานี้ไว้ในคำให้การรับสารภาพ ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์
จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๕ ฯลฯ

Share