คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231-232/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยที่ว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบ เพราะมิได้ให้การว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายด้วยเหตุอย่างไร
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การค้ำประกันหนี้ในอนาคตนั้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่า การถอนสัญญาค้ำประกันต้องได้รับหนังสือยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทโจทก์ก่อนก็ตาม แต่เมื่อผู้ค้ำประกันได้มีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันไปให้บริษัทโจทก์ทราบแล้วแต่กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ก็ทิ้งเรื่องไว้ตั้ง 5 เดือน แล้วจึงเสนอประธานกรรมการบริษัทโจทก์ระหว่างนั้นบริษัทโจทก์ก็ยังส่งข้าวสารไปยังลูกหนี้จนเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจึงได้ให้ลูกหนี้ออกจากหน้าที่และแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรับผิดในความเสียหายเช่นนี้ถือว่าบริษัทโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเสียหายผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนใช้เงินให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาเบตง แล้วยักยอกเงินค่าข้าวสารไปเป็นเงินในสำนวนแรก 30,000 บาท และในสำนวนหลัง 55,000 บาท จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ จึงขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้รายนี้ด้วย

จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิใช่ฉบับที่แท้จริงและไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยมิได้ยักยอกเงินดังกล่าว หากมีเงินขาดหายไปก็เพราะการค้าขาดทุน

จำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกให้การว่าไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 มิได้ยักยอกเงินตามฟ้อง เป็นเรื่องค้าขายขาดทุน

จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะผู้มอบอำนาจไม่ได้อยู่ตามวันและสถานที่ซึ่งปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ และต่อสู้ว่าได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย 1 เดือน แต่บริษัทโจทก์ยังขืนส่งข้าวสารให้จำเลยที่ 1 จนเกิดการเสียหายขึ้น และบริษัทโจทก์ไม่แจ้งการถอนค้ำประกันของจำเลยต่อประธานกรรมการ จนเนิ่นนานไปถึง 5 เดือน เป็นการทำการไม่สุจริตอย่างร้ายแรง เจตนากลั่นแกล้งให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีทั้งสองสำนวน

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1, 2 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น มิได้อ้างว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายด้วยเหตุอย่างไร จึงไม่มีประเด็นนำสืบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้มิได้กล่าวอ้างมาแต่ศาลชั้นต้น ก็กล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความเสียหายอันเกี่ยวกับการเงินทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถอนสัญญาค้ำประกันไปยังบริษัทโจทก์แล้วก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่าการถอนสัญญาค้ำประกันจะต้องได้รับหนังสือยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทจังหวัดยะลา จำกัด ก่อนก็ตาม แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ก็ทิ้งเรื่องไว้ตั้ง 5 เดือน แล้วจึงเสนอประธานกรรมการบริษัทโจทก์ ระหว่างนั้นบริษัทโจทก์ก็ส่งข้าวสารไปยังสาขาเบตงจนเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจึงสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากหน้าที่ และแจ้งให้จำเลยที่ 2 รับผิดในเงิน 55,000 บาท เช่นนี้ถือได้ว่าบริษัทโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันได้รับความเสียหายจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด

เมื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ 2 นอกจากนั้น คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share