คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 ถ้าโจทก์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนโจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนทราบคำสั่งของนายทะเบียน เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยหรือสั่งอย่างใดแล้ว คำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด ฉะนั้น เมื่อกฎหมายได้กำหนดวิธีการอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับในกรณีนี้ไว้แล้ว โจทก์จะเลือกไปดำเนินการคัดค้านโดยวิธีอื่น เช่น โดยฟ้องคดีต่อศาล หาได้ไม่
สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 16 และ 19 หมายถึงว่าเป็นสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ และกฎหมายกำหนดวิธีการที่จะอุทธรณ์ต่อใครอย่างไรไว้ ฉะนั้น เมื่อจะอุทธรณ์ก็ต้องปฏิบัติตามวิธีการนั้น ถ้ากฎหมายจะให้โจทก์มีสิทธิเลือกอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หรือจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้ ก็จะบัญญัติไว้ดังในมาตรา 22.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรับจดทะเบียนให้เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มิได้ดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีตามที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรง และเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงเข้าตามบทบัญญัติมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๔ ถ้าโจทก์ไม่พอใจในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรานี้ จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนทราบคำสั่งของนายทะเบียน เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยหรือสั่งอย่างใดแล้ว คำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด ฉะนั้น เมื่อกฎหมายได้กำหนดวิธีการอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว โจทก์จะเลือกไปดำเนินการคัดค้านโดยวิธีอื่น เช่น โดยฟ้องคดีต่อศาล หาได้ไม่
สิทธิที่จะอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙ และ ๑๖ นั้น หมายถึงว่าเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้ และกฎหมายกำหนดวิธีการที่จะอุทธรณ์ต่อใครอย่างไรไว้ เมื่อโจทก์จะอุทธรณ์ก็ต้องปฏิบัติตามวิธีการนั้น ถ้ากฎหมายจะให้โจทก์มีสิทธิเลือกอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้ ก็จะบัญญัติไว้ดังในมาตรา ๒๒
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share