คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3495/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งโอนขายให้แก่จำเลยที่ 5 และขอให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย การขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 5 นั้น มีผลให้โจทก์บังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ จึงเท่ากับเรียกร้องที่ดินนั้นมาจากจำเลยที่ 5 และให้โอนมาเป็นของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย แม้จะเป็นการขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 5 ก็ตาม แต่ผลแห่งการเพิกถอนนี้เป็นเหตุให้โจทก์ได้มาซึ่งที่ดิน-พิพาทในที่สุด จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินที่ขอให้บังคับโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทมีราคา 160,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญา-จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 160,000 บาท ในขณะที่จำเลยดังกล่าวเป็นผู้เยาว์โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโดยขออนุญาตทำนิติกรรมต่อศาลคดี-เด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับเงินค่าขายที่ดิน160,000 บาท จากโจทก์แล้ว จำเลยทั้งห้าฎีกาโต้เถียงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังแตกต่างกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังเป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Share