คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3494/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันกับให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันโดยให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเช่นนี้ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอเพราะกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1522 ที่บัญญัติว่ากรณีหย่าโดยคำพิพากษาให้ศาลเป็นผู้กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน กับให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในอัตราเดือนละคนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2530 มีบุตรแฝดด้วยกัน 2 คน โดยวิธีผสมเทียม ปัจจุบันบุตรทั้งสองมีอายุ 8 ปีเศษ ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยาในเดือนเมษายน 2537 โจทก์ไปบวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 โจทก์ลาสิกขามาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและกลับไปบวชอีก ครั้นต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 จำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ ได้เข้าพิธีแต่งงานกันและได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ในขณะที่โจทก์ยังเป็นสามีของจำเลยอยู่ แม้โจทก์จะไปร่วมงานในพิธีแต่งงานด้วย แต่โจทก์ก็อ้างว่าถูกข่มขู่และจำเลยยินยอมที่จะคืนหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับที่ดินทั้งเจ็ดฉบับให้โจทก์ซึ่งเป็นเหตุที่โจทก์ต้องยินยอมไปร่วมพิธีแต่งงานของจำเลยกับสิบตำรวจโทไพบูลย์ พฤติการณ์ที่จำเลยพยายามถ่ายโอนทรัพย์สินหลายรายการไปจากโจทก์ และอยู่กินฉันสามีภริยากับสิบตำรวจโทไพบูลย์โดยเปิดเผยในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นภริยาโจทก์ และการที่จำเลยมิได้ดูแลเอาใจใส่โจทก์เท่าที่ควรในขณะที่โจทก์อุปสมบทเป็นภิกษุ ล้วนเป็นการทำการปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง และมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้นั้น เห็นว่าบิดาและมารดา มีหน้าที่จักต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของทั้งบิดาและมารดาที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้ต่อมาการสมรสระหว่างบิดามารดาในฐานะสามีภริยาจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งบิดาและมารดาต่างก็ยังคงมีหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อยู่ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายได้ตามมาตรา 1598/38 นอกจากนี้กรณีที่การสมรสระหว่างบิดามารดาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยการหย่าหรือโดยคำพิพากษาของศาลก็ดี มาตรา 1522 บัญญัติว่า ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอมให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่ายหรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด และถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ให้ศาลเป็นผู้กำหนดซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างก็ตาม ทั้งมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เมื่อได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่นำสืบมาว่า โจทก์เป็นผู้มีทรัพย์สินและมีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ส่วนจำเลยมีรายได้จากการค้าขายเพียงเล็กน้อย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 4,000 บาท ต่อคน จึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share