คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น ถ้าเหตุแห่งการเลิกจ้างอยู่ที่ฝ่ายลูกจ้างแล้ว พึงพิจารณาว่าการกระทำหรือการงดเว้นของลูกจ้างเกิดมีขึ้นหรือไม่ และเหตุนั้นเพียงพอแก่การทีจะเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีและมีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้าง การเลิกจ้างย่อมไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยมิพักต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างนั้นมีการสอบสวนก่อนแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ที่ 1มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,950 บาท โจทก์ที่ 2มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้จัดการใหญ่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 47,665 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2529 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดและไม่มีการสอบสวนจึงเป็นการเลิกจ้างที่ผิดต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งเป็นการเลิกจ้างก่อนกำหนดเวลาการจ้างสุดสิ้น ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือเทียบเท่าโดย ให้ได้รับเงินเดือน เงินเพิ่ม และค่าครองชีพเท่าเดิมจนกว่าจะครบกำหนดเวลาจ้างทั้งนี้ให้ถือว่าไม่มีการเลิกจ้างหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวข้างต้น ก็ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,565,905 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 6,668,280 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยให้การด้วยวาจาร่วมกันทั้งสองสำนวนว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยฝ่าฝืนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการของจำเลย ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทุกประเภท และค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องก็สูงเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จคำขออื่นของโจทก์ที่ 1นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เป็นข้อที่ห้าว่า การประชุมของคณะกรรมการดำเนินการที่ให้พักงานโจทก์ที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.22 เอกสารหมาย จ.36 และเอกสารหมาย จ.38 กระทำโดยไม่ชอบหลายประการกล่าวคือ ผู้ออกหนังสือเชิญประชุมออกโดยไม่มีอำนาจ ไม่ได้ส่งหนังสือเชิญประชุมโดยชอบด้วยระเบียบ การประชุมดังกล่าว ประธานกรรมการมีคำสั่งยกเลิกแล้วเพราะมิใช่กรณีเร่งด่วน และเป็นการประชุมโดยคำร้องเรียนของประธานกรรมการของจำเลย ซึ่งได้ถูกถอดถอนไปแล้วตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ การประชุมตามที่กล่าวนั้นมีพิรุธกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง ทั้งเป็นการขัดต่อระเบียบแบบแผน และคำสั่งของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ความทั้งสิ้นที่อุทธรณ์มานั้นหามีปรากฏในคำฟ้องประการใดไม่โจทก์บรรยายเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมประการหนึ่งว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีการสอบสวนก่อนเท่านั้น เพราะฉะนั้น อุทธรณ์ข้างต้นจึงไม่เป็นประเด็นตามคำฟ้องไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ดังนั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ตามที่กล่าวข้างต้น
ในอุทธรณ์ข้อนี้ โจทก์ทั้งสองยังอุทธรณ์อีกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีการสอบสวนก่อน ทั้งนี้ ตามระเบียบการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์เกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. 2524ข้อ 18.2 และ ข้อ 18.3 (โจทก์คงหมายถึงเอกสารหมาย จ.19)เพราะฉะนั้นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อนี้ เห็นว่าการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมถ้าเหตุแห่งการเลิกจ้างอยู่ที่ฝ่ายลูกจ้างแล้ว พึงพิจารณาว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของลูกจ้างเกิดมีขึ้นหรือไม่ประการใดและเหตุนั้นเพียงพอแก่การที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นข้อสำคัญหากมีและมีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้าง การเลิกจ้างนั้นย่อมไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างนั้นมีการสอบสวนก่อนแล้วหรือไม่ คดีนี้ มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ สาเหตุนั้น ๆ เพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ได้นำสืบจนสิ้นกระแสความแล้ว ลำพังแต่ไม่มีการสอบสวนก่อนเท่านั้นจึงหาทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share