แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อเครื่องบินลำเกิดเหตุมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2533 ในราคา 3,899,087บาท แต่ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 เครื่องบินเช่นลำเกิดเหตุมีราคาลำละ4,717,898 บาท แสดงว่าเครื่องบินของโจทก์ย่อมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากเครื่องบินเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมราคาเพราะการใช้ ช่วงเวลา 1 ปี 9 เดือน ของการใช้งานคำนวณค่าเสื่อมราคาได้ 1,106,347 บาท ฉะนั้นการคำนวณราคาซึ่งจะต้องหักค่าเสื่อมราคาออกด้วยจึงต้องคิดฐานที่ตั้งจากราคา 4,717,898 บาท ซึ่งเป็นราคาในขณะเกิดเหตุละเมิดไม่ใช่คิดจากราคาซื้อเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่จัดฝึกอบรมศึกษาในแขนงวิชาชีพของกิจการพลเรือน จนมีความรู้ความสามารถขับเครื่องบินได้ มีนายรุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข เป็นอธิบดีมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องบิน เครื่องหมาย สัญชาติและทะเบียนเอชเอสทีซีซี ราคา3,611,551 บาท จำเลยเป็นนักเรียนการบินของโจทก์ในหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล รุ่นที่ 20 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องการฝึกบินของผู้ประจำหน้าที่อากาศยาน พ.ศ. 2535 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์2535 คือ ก่อนการฝึกบินต้องได้รับอนุญาตจากครูการบิน เพื่อขึ้นไปกำกับดูแล และให้คำแนะนำการฝึกบินบนเครื่องหรือทางวิทยุสื่อสารกับต้องตรวจสอบความสมบูรณ์เรียบร้อยของเครื่องบินและน้ำมันเชื้อเพลิงทุกครั้งตามคู่มือการตรวจ (PREFLIGHT CHECK) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 เวลา 13.20 นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง นำเครื่องบินดังกล่าวของโจทก์ขึ้นทำการฝึกบินโดยไม่ได้ขออนุญาตจากครูการบินทั้งไม่ได้ตรวจตราความสมบูรณ์เรียบร้อยของเครื่องบิน ไม่ได้ตรวจน้ำมันเชื้อเพลิงว่ามีเพียงพอสำหรับการฝึกบินในครั้งนี้หรือไม่ กับขณะฝึกบินจำเลยไม่ได้ดูมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงบนเครื่องบินว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงพอที่จะบินต่อไปได้หรือไม่จำเลยทำการบินจนน้ำมันเชื้อเพลิงในถังด้านขวาหมด ทำให้เครื่องยนต์ดับเป็นเหตุให้เครื่องบินตกได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,611,551 บาท โจทก์ได้ทราบเรื่องการกระทำละเมิดของจำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน3,967,475.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้น 3,611,551 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สภาบริหารคณะปฏิวัติมีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2515 อนุมัติให้นักบินครูการบิน และนักศึกษาของกรมการบินพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากอากาศยานตกหรือเสียหายในทุกกรณีต่อทางราชการและบุคคลที่สามนับแต่เครื่องยนต์ถูกติดขึ้นจนถูกดับลง และระเบียบศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องการฝึกบินของผู้ประจำหน้าที่อากาศยาน พ.ศ. 2535 ฉบับที่ 1ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ข้อ 13 ระบุว่าศิษย์การบินที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการเช่นกรณีของจำเลยให้ศิษย์การบินนั้นเพียงแต่พ้นสภาพจากการเป็นศิษย์การบินหรือตกรุ่นไปบินรุ่นต่อไป หรือตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น มิได้กำหนดให้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เครื่องบินที่เสียหายหากนำมาซ่อมแซมแล้วคงใช้การได้ ค่าเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,812,437 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน1,812,437.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินดังกล่าวนับแต่วันที่13 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน มีศูนย์ฝึกการบินพลเรือน2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพมหานคร และที่สนามฝึกบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องบินแบบไปเปอร์วาริเออร์ ทู เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียนเอชเอส-ทีซีซี สัญชาติไทย โจทก์ตีราคาเครื่องบินลำดังกล่าวขณะเกิดเหตุ 3,611,551 บาท และขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนักเรียนการบินของโจทก์หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล รุ่นที่ 20 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 เวลา 13.20 นาฬิกา จำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังนำเครื่องบินลำดังกล่าวขึ้นฝึกบินที่สนามฝึกบินบ่อฝ้ายโดยพละการเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เกิดเครื่องยนต์ดับเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงหมด เครื่องบินตกที่บริเวณตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เครื่องบินได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมใช้งานได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายตามจำนวนที่ฟ้องหรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนางวัลนา วังสงค์นักบัญชี 5 สำนักบัญชีและตรวจสอบภายในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเบิกความเป็นพยานว่า พยานได้รับมอบหมายให้คำนวณความเสียหายของเครื่องบินลำเกิดเหตุโดยคำนวณจากรายการทรัพย์สินที่โจทก์ส่งมายังกระทรวงการคลัง คำนวณแล้วทำรายการไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.9 ของศาลแพ่ง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย สำหรับการคำนวณราคาทรัพย์เพื่อชดใช้แทนนั้น เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาได้แก่เวลาขณะเกิดเหตุละเมิด ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.9 ของศาลแพ่งแม้โจทก์ซื้อเครื่องบินลำเกิดเหตุมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2533 ในราคา 3,899,087 บาทแต่ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 โจทก์อ้างว่าเครื่องบินเช่นลำเกิดเหตุมีราคาลำละ 4,717,898 บาท โดยจำเลยไม่นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าเครื่องบินซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ย่อมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากเครื่องบินเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมราคาเพราะการใช้ ช่วงเวลา 1 ปี 9 เดือน ของการใช้งาน นางวัลนาคำนวณค่าเสื่อมราคาได้ 1,106,347 บาท ฉะนั้นการคำนวณราคาจึงต้องคิดฐานที่ตั้งจากราคา 4,717,898 บาท ซึ่งเป็นราคาในขณะเกิดเหตุละเมิดไม่ใช่คิดจากราคาซื้อเดิมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย สำหรับซากเครื่องบินที่มีอยู่ที่โจทก์ประเมินราคาไว้ 1,172,314 บาทนั้น แม้เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าแต่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ประสงค์จะได้เนื่องจากตามสภาพของความเป็นจริงเป็นการยากที่จะนำไปใช้งานซ่อมแซมเครื่องบินโจทก์ลำที่เหลืออยู่ ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามสำเนาหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี สร 1001/ว 32 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2525 เอกสารหมาย ป.จ.11 ของศาลแพ่ง คือให้จำเลยรับซากเครื่องบินนั้นไปหลังจากที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองนำราคาซากเครื่องบินดังกล่าวหักออกจากราคาเครื่องบินที่จำเลยจะต้องชดใช้ก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยนางวัลนาเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังไม่ได้สังกัดโจทก์คิดคำนวณราคาตามหลักเกณฑ์ที่ระเบียบกำหนด จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งการคิดคำนวณของนางวัลนาและทางนำสืบของโจทก์ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายจึงฟังได้ว่าเครื่องบินโจทก์ลำเกิดเหตุมีราคาขณะเกิดเหตุ 4,717,898 บาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคา 1,106,347 บาท ค่าเสียหายจึงเท่ากับ 3,611,551 บาท โจทก์สมควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,611,551 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 355,924.92 บาท เมื่อจำเลยชำระเงินเสร็จสิ้นแล้วให้จำเลยมีสิทธิรับซากเครื่องบินทั้งหมดคืนจากโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7