คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1598/28 เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลาที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชาย ส.ให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ร้อยตรี บ.แล้ว ผู้ร้องกับ อ.ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายส.ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชาย ส.เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรี บ.และแม้ภายหลังร้อยตรี บ.ถึงแก่กรรม ก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ เด็กชาย ส.ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรี บ.อยู่ ผู้ร้องกับ อ.หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่ อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะกลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา1598/37 เท่านั้น เมื่อเด็กชาย ส.บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับ อ.ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชาย ส.กลับคืนมาเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชาย ส.ได้เมื่อผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ส.บุตรผู้เยาว์ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชาย ส.บุตรผู้เยาว์

Share