คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3487/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก็เท่ากับว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ในส่วนที่โจทก์เองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แม้ภายหลังโจทก์จะรับโอนที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นจนโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดดังกล่าวเพียงคนเดียวก็ไม่ถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยจึงยกเอาการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 และรื้อถอนบ้านเลขที่ 65 ออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของโจทก์เสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2367ร่วมกับโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ห้ามมิให้โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอีกต่อไป และขอให้บังคับโจทก์ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองปรปักษ์ให้แก่จำเลยหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากนางเพิ่ม โจทก์เก็บผลประโยชน์จากค่าเช่าของจำเลยโดยตลอดไม่เคยทิ้งร้างให้จำเลยเข้าครอบครองเป็นของตนแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมีคำสั่ง(ที่ถูกพิพากษา) ว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นทึบสีดำ ตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครตกเป็นกรรมสิทธิ์จำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำฟ้องแย้งในส่วนที่ขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับนายขาว เพิ่มสุข ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2367ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยไม่ได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นสัดส่วน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2530นายขาวได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายสุวัฒน์ ด้วงปั้นครั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2530 นายสุวัฒน์ ได้ขายที่ดินที่ซื้อจากนายขาวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2367นั้นเพียงผู้เดียว เมื่อตอนโจทก์ซื้อที่ดินจากนายสุวัฒน์ดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครทำการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 ในการรังวัดครั้งนี้โจทก์นำชี้ว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่เศษ เป็นที่ดินในโฉนดของโจทก์ซึ่งจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้นมานานหลายสิบปีแล้วโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในโฉนดเลขที่ 2367 ของโจทก์ แม้จำเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะนายขาว เจ้าของรวมคนหนึ่งได้ขายเฉพาะส่วนของนายขาวให้แก่นายสุวัฒน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปเมื่อวันที่4 มิถุนายน 2530 นายสุวัฒน์ รับโอนไปโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นายสุวัฒน์ได้ เมื่อนายสุวัฒน์ได้โอนขายให้แก่โจทก์ และจำเลยยังครอบครองปรปักษ์หลังจากนั้นไม่ถึง 10 ปีจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 จนได้กรรมสิทธิ์แล้วก็เท่ากับว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ในส่วนที่โจทก์เองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แม้ภายหลังโจทก์จะรับโอนที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น จนโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2367 เพียงคนเดียวก็ไม่ถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองจำเลยยกเอาการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share