คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3485/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิมแต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางกว้าง 3 วา ตลอดแนวที่ดินของจำเลยด้านทิศใต้จากทิศตะวันออกไป จดทางด้านทิศตะวันตก ให้จำเลยรื้อรั้วและตัดต้นไม้ให้โจทก์ใช้ทางได้สะดวกหากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อและ ตัดต้นไม้ได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนทางภาระจำยอม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.25 เมตร ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลยจาก ทิศตะวันออกตรงบริเวณที่ติดกับที่ดินของโจทก์ไปทิศตะวันตกตลอดแนวตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หากมีรั้ว ต้นไม้หรือสิ่งกีดขวางทางดังกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกไป คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางกว้าง 3.25 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลยตามแนวสีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 โดยยาวตั้งแต่ทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – อ่างทอง มาทางด้านทิศตะวันออกจนเลยหลักเขตที่ดินที่ ก.12127 ไปอีก 3.25 เมตร ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นขวางทางดังกล่าวออกไป ค่าฤชาธรรมเนียมทุกชั้นศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4376 ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เดิมเป็นของนางม้วน ต่อมาตกเป็นของโจทก์โดยได้รับยกให้จากนางสงัด มารดาซึ่งได้รับมรดกจากนางม้วน ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการแบ่งหักให้เป็นทางสาธารณะทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – อ่างทอง ทางด้านทิศตะวันตกบางส่วนและแบ่งขายที่ดินด้านนี้ให้แก่นางฉลวย มารดาจำเลยบางส่วนด้วยซึ่งได้ออกเป็นโฉนด ที่ดินเลขที่ 9890 ต่อมานางฉลวยยกที่ดินที่ซื้อมาดังกล่าวให้แก่นางบุปผา และจำเลย ซึ่งได้มีการแบ่งแยกออกเป็นส่วนของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15704 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – อ่างทอง จำเลยได้เปิดทางพิพาทกว้าง 3.25 เมตร มีความยาวตลอดที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ของที่ดินของจำเลยซึ่งระบายสีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในครั้งแรก มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์เดิมก่อน แบ่งแยกขายให้แก่นางฉลวยมารดาจำเลยอยู่ติดทางสาธารณะทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – อ่างทอง อยู่แล้ว แต่เมื่อแบ่งแยกขายให้แก่นางฉลวยดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่โดยรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะดังกล่าวได้ โดยที่ดินที่แบ่งขายให้แก่นางฉลวยนั้นต่อมาได้แบ่งแยกออกเป็น 2 แปลง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้ง 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลย และที่ดินโฉนดเลขที่ 9890 ของนางบุปผาซึ่งอยู่ติดกับ ที่ดินของจำเลยด้านทิศเหนือ กรณีของโจทก์ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1350 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าที่ดิน แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าตอบแทน” โจทก์จึงมีสิทธิจะเรียกร้องเอาทางเดินจากที่ดินแปลงที่แบ่งแยกคือที่ดินของจำเลยหรือที่ดินของนางบุปผาซึ่งเดิมเป็น ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ได้ จะเอาทางเดินจากที่ดินแปลงอื่นไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่สาธารณะทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – อ่างทอง ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลยแม้เดิมจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4376 ของโจทก์ แต่มิได้แบ่งแยกมาจากที่ดินของโจทก์ แต่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9890 ของนางบุปผา นอกจากนั้นโจทก์ก็สามารถเดินผ่าน เข้าออกที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้โดยผ่านที่ดินของนายแถม นางทองคำ และนางวันเพ็ญ ได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1350 แห่ง ป.พ.พ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทางเดินตามมาตรานี้จากจำเลยได้นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 1350 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เมื่อที่ดินของจำเลยและนางบุปผาก็คือที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์เป็นของนางบุปผาก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของนางบุปผาเป็นของจำเลย ภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิมแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยได้…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share