คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584-2585/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนฯ กันตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯ ถูกต้องตามขั้นต้นของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แม้จะระบุไว้ในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ข้อ 2 (1) ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ก็ตาม แต่ในข้อ 8 ก็ระบุว่า ถ้ามีการคลาดเคลื่อนในจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงยินยอมให้คิดราคาค่าทดแทนตามจำนวนเนื้อที่ที่ซื้อขายตามความเป็นจริงที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว เนื้อที่ที่ถูกเวนคืนที่ระบุไว้ในข้อ 2 (1) ดังกล่าว เป็นการประมาณการ แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจึงทราบเนื้อที่ที่ดินจำนวนที่แน่อนอนว่าถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 30.90 ตารางวา มากกว่าที่ประมาณการไว้เนื้อที่ 42.90 ตารางวา ซึ่งก็คือจำนวนเดียวกันกับที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ มาตั้งแต่ต้นอันเป็นส่วนเดียวกันกับที่โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายฯ ที่ทำขึ้นถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลใช้บังคับได้ ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินเนื้อที่ 42.90 ตารางวา คืนจากจำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความชุดเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันมาโดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 71,928,801 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 65,389,820 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1483 ตำบลบางค้อหรือบางขุนเทียน (คุ้งเผาถ่าน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 42.90 ตารางวา ส่วนที่เกินจากเนื้อที่ที่เวนคืนคืนให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินส่วนดังกล่าวคืนได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,288,663 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 1,176,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่สอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนภายหลังรังวัดแบ่งแยกแล้วเพิ่มขึ้นอีก 42.90 ตารางวา ตารางวาละ 8,000 บาท เพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกจำนวน 343,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาคำนวณเช่นเดียวกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เว้นแต่จำเลยจะได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินเนื้อที่ 42.90 ตารางวา คืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนจะถูกกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ในกรณีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจอมทอง เขตภาษีเจริญ เขตบางขุนเทียน และเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 มาตรา 5 ได้กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ มีส่วนแคบที่สุดสี่ร้อยห้าสิบเมตรและส่วนกว้างที่สุดหนึ่งพันห้าร้อยเมตร ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งที่ดินของโจทก์อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ ไม่มีอำนาจและไม่ได้เป็นผู้กำหนดให้ที่ดินเนื้อที่ 42.90 ตารางวานี้อยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแต่อย่างใด ที่ดินเนื้อที่ 42.90 ตารางวา ของโจทก์นี้เป็นส่วนที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ ด้วย ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แล้วตารางวาละ 7,000 บาท และต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และกำหนดจำนวนเงินทดแทนฯ กันตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 ซึ่งอยู่ภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯ ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แม้จะระบุไว้ในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ข้อ 2 (1) ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ก็ตาม แต่ในข้อ 8 ก็ระบุว่า ถ้ามีการคลาดเคลื่อนในจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงยินยอมให้คิดราคาค่าทดแทนตามจำนวนเนื้อที่ที่ซื้อขายตามความเป็นจริงที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว เนื้อที่ที่ถูกเวนคืนที่ระบุไว้ในข้อ 2 (1) ดังกล่าว เป็นการประมาณการ แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจึงทราบเนื้อที่ที่ดินจำนวนที่แน่นอนว่าถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 30.90 ตารางวา มากกว่าที่ประมาณการไว้เนื้อที่ 42.90 ตารางวา ซึ่งก็คือจำนวนเดียวกันกับที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนมาตั้งแต่ต้นอันเป็นส่วนเดียวกันกับที่โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายฯ กันที่ทำขึ้นถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลใช้บังคับได้ ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินเนื้อที่ 42.90 ตารางวา คืนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้ตามอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยไว้ตารางวาละ 8,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 343,200 บาท ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ.

Share