คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ทั้งบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงถือว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสในเรื่องลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรสนั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอโดยขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ยกคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้าน 1,500 บาท
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสำเนาทะเบียนการสมรสในช่องรายการลำดับที่ 11 ซึ่งระบุว่า ลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนจะปรากฏแต่เฉพาะลายมือชื่อของผู้คัดค้านเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ในบันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรสดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน บันทึกดังกล่าวลงวันที่ 25 ตุลาคม 2509 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการจดทะเบียนสมรส แสดงว่าบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงย่อมถือได้ว่า ผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรสนั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะแต่อย่างไร ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการต่อไปว่า การจดทะเบียนรับเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธ เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1583 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า ถ้าผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การรับผู้นั้นเป็นบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ได้ และมาตรา 1585 (เดิม) บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 แล้วจะเห็นว่าบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวกำหนดแต่เพียงว่า การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเท่านั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอมแต่อย่างไร ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2509 ผู้คัดค้านกับนางมยุรีซึ่งเป็นบิดาและมารดาของเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธ ได้จดทะเบียนหย่าและแยกกันอยู่ โดยมีบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่าให้ผู้คัดค้านรับเลี้ยงเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธ ส่วนนางมยุรีรับเลี้ยงบุตรคนเล็ก ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2509 ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2512 ผู้ตายได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธเป็นบุตรบุญธรรม โดยมีบันทึกหลังทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมว่า ฝ่ายผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม เป็นบุตรของผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมเกิดจากนางมยุรีซึ่งได้หย่าขาดจากผู้คัดค้านแล้ว และได้มีบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่า ให้เด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธ ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอยู่ในความปกครองและอุปการะเลี้ยงดูของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ให้ความยินยอมและยื่นคำร้องแทนได้ ดังนั้น การที่นายทะเบียนได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่ผู้ตายโดยที่ให้แต่เฉพาะผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมเพียงผู้เดียวก็อาจจะเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธเพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1537 วรรคสอง (เดิม) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่านับแต่ที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธเป็นบุตรบุญธรรมจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นระยะเวลานานถึง 29 ปี นางมยุรีก็มิได้ว่ากล่าวคัดค้านการรับบุตรบุญธรรมแต่อย่างไร นอกจากนี้นางมยุรียังได้ทำหนังสือยืนยันการให้ความยินยอมในภายหลังว่านางมยุรีได้ทราบเรื่องการรับเด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและได้ให้ความยินยอมมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เหตุที่มิได้ลงลายมือชื่อไว้ก็เพราะว่าขณะที่จดทะเบียนหย่ากับผู้คัดค้าน นางมยุรีได้ตกลงให้เด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธอยู่ในการเลี้ยงดูของผู้คัดค้านนั้นหมายถึงการให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวด้วย การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายชอบแล้ว ไม่ขอคัดค้าน ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวฟังได้ว่านางมยุรีได้ยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรมของผู้ตาย การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงชอบแล้ว เมื่อได้ความดังกล่าว เด็กหญิงอาริยาและเด็กชายสุเมธ จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ย่อมไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดกรายนี้ ส่วนผู้คัดค้านเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลล่างแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนผู้คัดค้าน 1,000 บาท.

Share