คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 348/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์ซื้อมาจากเจ้าของเดิม ซึ่งให้ผู้ร้องและจำเลยอยู่อาศัย จำเลยให้การว่าเจ้าของเดิมได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมกับมอบการครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทให้ผู้ร้องแล้วจำเลยครอบครองแทนผู้ร้อง ดังนี้ คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยมีข้อโต้เถียงเป็นประเด็นพิพาทถึงสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทของผู้ร้องกับโจทก์ มีผลเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องอันถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี มีสิทธิร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 101710, 102845และตึกแถวพิพาทเลขที่ 1276 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาท อ้างว่าโจทก์ซื้อมาจากนายสันต์ สมิตเวช เจ้าของเดิมซึ่งให้นายไชยสิทธิ์ถิระชัยวนิช ผู้ร้องและจำเลยทั้งห้าอยู่อาศัย ต่อมานายไชยสิทธิ์ได้ออกไปจากที่ดินและตึกแถวดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ยอมออกจึงต้องฟ้องขับไล่และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า เดิมที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของนายสันต์ สมิตเวช นายสันต์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายไชยสิทธิ์ ถิระชัยวนิช ผู้ร้อง และมอบการครอบครองให้นายไชยสิทธิ์แล้ว ต่อมาโจทก์ สามีโจทก์และนายสันต์สมคบกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์ตกอยู่ในฐานะที่จะต้องถูกเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้อยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทเพื่อครอบครองแทนนายไชยสิทธิ์ หากโจทก์จะฟ้องขับไล่จะต้องฟ้องนายไชยสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ตึกแถวพิพาทมีสภาพเก่าไม่อาจให้เช่าในราคาเดือนละ 10,000บาท หากให้เช่าจะให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้องผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาท โดยนายสันต์ส่งมอบการครอบครองให้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2525 แต่นายสันต์ยังไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้ร้องได้ เนื่องจากนายสันต์มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินกับสามีโจทก์ต่อมาโจทก์และสามีโจทก์ได้สมคบกับนายสันต์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ โดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องได้ก่อน การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในการครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เหตุตามคำร้องที่อ้างนั้น หากมีจริงก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีเรื่องอื่นต่างหาก ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ และมิใช่เป็นเรื่องที่จะมาร้องขอให้ได้รับความรับรองคุ้มครองในคดีนี้ได้ ให้ยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ตามคำร้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท โดยอ้างว่าซื้อมาจากนายสันต์เจ้าของเดิม ผู้ร้องซึ่งเคยอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทได้ยอมขนย้ายออกไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทเพื่อครอบครองแทนผู้ร้อง โดยที่ดินและตึกแถวพิพาทเดิมเป็นของนายสันต์ต่อมานายสันต์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง และมอบการครอบครองให้ผู้ร้องแล้ว ต่อมาโจทก์ สามีโจทก์และนายสันต์สมคบกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้ ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยดังกล่าวมีข้อโต้เถียงเป็นประเด็นพิพาทถึงสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทของผู้ร้องด้วยทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมก็ได้อ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยให้จำเลยครอบครองแทนทำนองเดียวกันกับที่จำเลยดังกล่าวยื่นคำให้การ นัยหนึ่งก็คือว่า โจทก์ได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องด้วย ข้ออ้างดังที่ปรากฏในคำฟ้อง คำให้การและคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวมานี้รวมกันพอทำให้เห็นว่ามีข้อกล่าวอ้างที่แสดงว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share