คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 348/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์เป็นประเด็น 3 ข้อว่า จำเลยชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว การออกเช็คนี้เป็นการค้ำประกันเงินกู้ และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยออกเช็ค เพื่อเป็นประกันเงินกู้ พิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่น โจทก์ฎีกา เมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยออกเช็คเป็นการชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อประกันการกู้ยืม ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยประเด็นอีก 2 ข้อ ที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในชั้นอุทธรณ์ด้วย แล้วจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ได้ออกเช็คล่วงหน้าให้ไว้เป็นการชำระหนี้เงินกู้ และตกลงกันว่าเมื่อเช็คถึงกำหนด ให้นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารได้ เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นเป็นการชำระหนี้ มิใช่เพื่อประกันการกู้ยืม ครั้นถึงกำหนดวันทีสั่งจ่าย ผู้เสียหายไปถามธนาคาร ธนาคารบอกว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่มี ต่อมาอีกเกือบ 1 เดือน ผู้เสียหายจึงนำเช็คนี้ไปเข้าบัญชีธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 3(3) ด้วย
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เข็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จะเป็นความผิดต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และจะถือว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินได้ก็ต่อเมื่อได้มีการยื่นเช็คต่อธนาคารและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว เพียงแต่ผู้เสียหายไปถามธนาคาร ธนาคารบอกว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่มี ยังถือไม่ได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๑ เวลากลางวันจำเลยได้ออกเช็คของธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาอุดรธานี หมายเลข เค.เอส. ๒๙๕๘๕๕ สั่งจ่ายวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑ สั่งจ่ายเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท มอบให้แก่นางเอมพร เพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๒ นางเอมพรได้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชี อันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงรับว่าได้ออกเช็คฉบับที่โจทก์ฟ้องจริง เนื่องจากจำเลยกู้เงินผู้เสียหายมาเมื่อเช็คถึงกำหนด เงินในบัญชีของจำเลยไม่มี แต่จำเลยนำเงินสดไปชำระให้ผู้เสียหายแล้ว เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชี เงินของจำเลยก็ไม่มีอยู่ในธนาคาร
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามเช็คให้ผู้เสียหาย จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายก่อนเช็คถึงกำหนด ๒ วัน เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงิน แต่เงินในบัญชีของจำเลยไม่มี จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้ใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี อันพึงให้ใช้เงินได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เข็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓(๑) (๓) จำคุกจำเลย ๑ เดือน
จำเลยอุทธรณ์เป็นประเด็น ๓ ข้อว่า จำเลยได้ชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว การออกเช็คนี้เป็นการค้ำประกันเงินกู้ และผู้เสียหายได้รู้การกระทำผิดและร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนด ๓ เดือน คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายยึดถือเป็นการประกันเงินกู้ ถือว่าจำเลยไม่มีเจนนาจะออกเช็คให้เพื่อการชำระหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยรับว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินผู้เสียหายไป ๑๐,๐๐๐ บาท และได้ออกเช็ครายพิพากให้ผู้เสียหายไว้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยไม่มีเงินในบัญชี เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชี จำเลยไม่มีเงินในบัญชี การกู้ยืมเงินรายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้ผู้เสียหาย แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า
การที่จำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายโดยออกเช็คไว้ล่วงหน้าให้เป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม และตกลงกันว่าเมื่อเช็คถึงกำหนด ให้นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารได้ เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นเป็นการชำระหนี้ มิใช่เพื่อเป็นประกันการกู้ยืม
คดีนี้ จำเลยต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้จำเลยเสียด้วย ฟังว่า จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑ เมื่อครบกำหนดสั่งจ่าย ผู้เสียหายไปถามธนาคาร ธนาคารบอกว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่มี วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๒ ผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๒ ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ระบุไว้ชัดว่า จะเป็นความผิดต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และจะถือว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินได้ก็ต่อเมื่อได้มีการยื่นเช็คต่อธนาคาร และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว เพียงแต่ผู้เสียหายไปถามธนาคาร ธนาคารบอกว่าเงินในบัญชีจำเลยไม่มี ยังถือไม่ได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามข้อเท็จจริงข้างต้นจึงต้องถือว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๒ และเป็นวันเดียวกับที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด นับถึงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๒ อันเป็นวันร้องทุกข์ยังไม่เกินสามเดือน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อจำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายไปและออกเช็คให้ผู้เสียหายไว้เป็นการชำระหนี้ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า ไม่มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเท่านั้น หากเป็นความผิดฐานออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่ เพราะตั้งแต่จำเลยออกเช็คตลอดมาจนถึงวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงินธนาคาร จำเลยไม่มีเงินในบัญชีของจำเลยเลย
พิพากษากลับ ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓(๑) ส่วนกำหนดโทษ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share