แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลย ร่วมดื่มสุราด้วยกันจนเมาแล้วผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้านผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้ม ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีกเมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไปแทงสวนไปสองสามครั้ง ถูกผู้ตาย ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้ามจึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้าด้วย ซึ่งตามมาตรา 60 ประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิ พอสมควรแก่เหตุอันไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้วใช้มีดนั้นแทงนายกำพล ศรีบัว ถึงแก่ความตายและแทงนายสุเทพ ทรงวิรัชธร ผู้เสียหาย ถูกที่ใต้ไหปลาร้าขวาได้รับบาดเจ็บจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๙๕, ๓๗๑, ๙๐, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๕ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน และศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๕ เบาไป
ศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยแทงผู้ตายเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ และวินิจฉัยความผิดตามมาตรา ๒๙๕ ต่อไปว่าบาดแผลของผู้เสียหายอาจเกิดจากถูกมีดเอง โดยจำเลยมิได้แทงก็ได้ หรือหากเกิดจากแทงพลาดก็ถือว่าขาดเจตนาอีกทั้งเป็นกรณีเกิดจากการป้องกันตัวโดยชอบด้วย จำเลยไม่มีความผิด คงมีความผิดฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕
คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพียงฐานเดียว
ศาลฎีกาเห็นว่า คืนเกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายพากันไปบ้านงานบวชนาคและจำเลยกับผู้ตายเกิดโต้เถียงกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับ มาได้ประมาณ๑๐ เมตร ผู้ตายตามมาเรียกให้หยุด แล้วต่อยเตะจำเลย จำเลยล้มลง ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวแทงสวนไปกระทำอยู่เช่นนี้ ๒-๓ ครั้ง ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าม จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ การที่ผู้เสียหายถูกแทงนั้น จำเลยไม่มีเจตนาแทงผู้เสียหายโดยตรงแม้ตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ อันไม่เป็นความผิด แม้ผลของการกระทำอาจเกิดแก่ผู้เสียหายโดยพลาดไป ก็ต้องถือว่าการกระทำโดยพลาดไปนั้นเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน