คำวินิจฉัยที่ 37/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่มีลำกระโดงตื้นเขินคั่นกลางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินและนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทำให้มีที่ดินเพิ่มขึ้นและก่อสร้างรั้วลวดหนามพร้อมปลูกต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินและรื้อถอนรั้วลวดหนามพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากลำกระโดง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินลำกระโดง ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรไปมาได้ ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นางวิภา ตันฤดี โดยนายวิสุทธิ ตันฤดี ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ยื่นฟ้อง นางจงกล เติมเพ็ชร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาพระประแดง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ซื้อที่ดินจำนวน ๓ แปลงรวมเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๓๕๑ เลขที่ดิน ๓๔ ตำบลบางกอบัว (บางกะบัว) อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๔๓ ตารางวา ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๓ เลขที่ดิน ๕๔ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา โดยมีลำกระโดงที่ตื้นเขินคั่นกลางระหว่างที่ดินโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ ได้ขอสอบเขตโฉนดที่ดินและได้นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในทางด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับลำกระโดงและที่ดินของโจทก์ โดยรวมเนื้อที่ลำกระโดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าไปด้วย เป็นเหตุให้มีที่ดินเพิ่มขึ้น ๑๓ ตารางวา รวมมีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๒๗ ตารางวา ในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เรียกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัวหรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้มาระวังชี้แนวเขต ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ก่อสร้างรั้วลวดหนามพร้อมปลูกต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ลำกระโดงที่ตื้นเขินเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้แก้ไขโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ให้ถูกต้องและรื้อถอนรั้วลวดหนามพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากลำกระโดง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๓๕๑ ตำบลบางกอบัว (บางกะบัว) อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเกิดจากการรวมโฉนดที่ดินจำนวน ๓ แปลง เข้าด้วยกันโดยไม่มีที่ดินด้านใดติดลำกระโดง จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอรังวัดโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๓ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา ติดกับที่ดินของโจทก์ในการรังวัดที่ดินเจ้าของที่ดินด้านที่เหลือได้รับรองแนวเขตครบทุกด้าน ส่วนที่ดินด้านติดถนนเพชรหึงษ์และคลองบางกอบัวมีผู้แทนของนายอำเภอพระประแดงและผู้แทนหัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ ๖ มาร่วมระวังแนวเขต จากการรังวัดที่ดินจำเลยที่ ๑ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ๕๗ ตารางวา โดยเจ้าของที่ดินทางทิศใต้ได้ทำการคัดค้านแนวเขตที่ดิน จากการรังวัดใหม่ผู้คัดค้านได้มาทำการตรวจสอบและแก้ไขแนวเขตใหม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้รูปแผนที่และเนื้อที่เพิ่มขึ้น ๑๓ ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๒๗ ตารางวา จำเลยที่ ๒ สอบสวนแล้วไม่มีการสมยอมให้ปันแนวเขต การคัดค้านยุติ จึงสั่งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๙ ทวิ ที่ดินของโจทก์ติดด้านทิศตะวันตกของจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฏเป็นลำกระโดงหรือสาธารณประโยชน์จึงไม่จำต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาไประวังแนวเขตที่ดิน และเจ้าของที่ข้างเคียงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านทำการรับรองแนวเขตแนวเขตที่รังวัดไว้เดิมจึงไม่จำต้องระวังแนวเขต หากเดิมที่ดินของโจทก์มีแนวเขตติดลำกระโดงต้องทำการสงวนสิทธิไว้เป็นที่ดินส่วนบุคคลไม่ให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ ๑ ไม่เคยอนุญาตให้โจทก์ใช้ที่ดินของตนเป็นทางเข้าออกและลำกระโดงเดิมเป็นคลองที่ขุดเพื่อส่งน้ำใช้ในการเกษตร ในขณะโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่มีลำกระโดงแต่อย่างใด การรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องว่า ข้อพิพาทคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ อ้างว่าการรังวัดดังกล่าวทับลำกระโดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนี้ การที่ศาลจะพิจารณาว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ลำกระโดงที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อประเด็นพิพาทในคดีอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ดำเนินการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๓ ของจำเลยที่ ๑ ทับลำกระโดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมิได้แจ้งให้ผู้ปกครองท้องที่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินให้มาระวังชี้แนวเขตลำกระโดง อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนรั้วลวดหนามและสิ่งปลูกสร้างออกจากลำกระโดงและชดใช้ค่าเสียหายนั้น แม้จำเลยที่ ๑ จะมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อมูลเหตุในการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ที่ได้ดำเนินการรังวัดรวมลำกระโดงเข้าไปในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๕๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยผลการรังวัดดังกล่าวเข้าไปสร้างรั้วลวดหนามและสิ่งปลูกสร้างปิดกั้นลำกระโดงพิพาท ทำให้โจทก์ผู้ใช้ลำกระโดงพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงเห็นได้ว่าประเด็นข้อพิพาทนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจตามกฎหมายในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินและสั่งแก้ไขรูปแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน
สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าลำกระโดงพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๑ มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีเท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และการพิจารณาคดีไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้บังคับแก่คดี นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ อีกทั้งการพิจารณาว่าการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้พิจารณาเฉพาะประเด็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่แต่เพียงประการเดียว แต่ยังต้องพิจารณาในประเด็นว่าการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกโดยถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่มีลำกระโดงตื้นเขินคั่นกลางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินและนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินลำกระโดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นเหตุให้มีที่ดินเพิ่มขึ้น ในการรังวัดจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เรียกหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้มาระวังชี้แนวเขตและจำเลยที่ ๑ ได้ก่อสร้างรั้วลวดหนามพร้อมปลูกต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำกระโดงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งบังคับให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนรายการในโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ในส่วนเนื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้กลับเป็นเนื้อที่เดิมและให้แก้ไขรูปที่ดินโดยให้มีลำกระโดงปรากฏในโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๑ และรื้อถอนรั้วลวดหนามพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากลำกระโดง ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินของโจทก์ไม่มีด้านใดติดลำกระโดง ในการรังวัดโฉนดที่ดินด้านติดกับจำเลยที่ ๑ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเจ้าของที่ดินได้รับรองแนวเขตและมีผู้แทนของส่วนราชการมาระวังแนวเขตครบทุกด้าน จำเลยที่ ๒ สอบสวนแล้วไม่มีการสมยอมให้ปันแนวเขต การคัดค้านยุติ จึงสั่งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินตามกฎหมาย ส่วนที่ดินด้านของโจทก์ซึ่งติดกับจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นลำกระโดงหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเจ้าของที่ข้างเคียงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจึงไม่จำต้องให้เจ้าหน้าที่ระวังชี้แนวเขต ขณะโจทก์เข้าครอบครองที่ดินไม่มีแนวเขตลำกระโดงหากมีต้องทำการสงวนสิทธิไว้เป็นที่ดินส่วนบุคคลไม่ให้ใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยอนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้าออกและลำกระโดงเดิมเป็นคลองที่ขุดเพื่อส่งน้ำใช้ในการเกษตร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินลำกระโดง ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่อาจใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรไปมาได้ ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวิภา ตันฤดี โดยนายวิสุทธิ ตันฤดี ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ นางจงกล เติมเพ็ชร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาพระประแดง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share