คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้ จดทะเบียนในประเทศไทยก็อาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า อันได้จดทะเบียนไว้แล้วได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อประกอบกับ มาตรา 41(1) ที่ให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่แสดงได้ว่าตนมีสิทธิใน เครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ อาจร้องขอให้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โจทก์ซึ่งอ้างตนว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยทั้งสอง จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองได้
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างถึงการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาลตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับในภายหลัง แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลในการกระทำของจำเลยทั้งสองที่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYA VODKA” อ่านว่า”มอสโก๊ฟสกาย่า โอโซบาย่า วอดก้า” และรูปเครื่องหมายการค้ามาจากบริษัทผู้โอนสิทธิ บริษัทผู้โอนสิทธิเคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYA VODKA” และรูปดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้ในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศสหพันธรัฐรัสเซียและอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2517 สินค้าเหล้าวอดก้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเครื่องหมายการค้านั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในวงการผู้แทนจำหน่ายสุรายี่ห้อต่าง ๆ ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนำมายื่นขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามรับจดทะเบียน เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า บริษัทผู้โอนสิทธิให้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนไว้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยกคำร้องของบริษัทผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเห็นว่าหลักฐานที่บริษัทผู้ร้องนำส่งยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ร้องมีความแพร่หลายขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYA” ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 210332 ทะเบียนเลขที่ 153035 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2จดทะเบียนไว้ (ที่ถูกเป็นโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า”MOSKOVSKAYA” ตามทะเบียนเลขที่ 153035 ดีกว่าจำเลยทั้งสอง)และเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของโจทก์และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8(10) และ (11) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถอนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 210332 ทะเบียนเลขที่ 153035 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ห้ามจำเลยที่ 1และที่ 2 ใช้และยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะดำเนินการฟ้องร้องเอาแก่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 19 พฤศจิกายน2541 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 65 วรรคสอง และเป็นเวลาเกินกว่า5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองคือวันที่ 19 ธันวาคม 2533 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคแรก โจทก์มิใช่ผู้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทอย่างถูกต้องตามทางปฏิบัติของทางราชการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 153035 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2533 ให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYA VODKA” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 294099 ลงวันที่ 25 กันยายน 2538 ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ ฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสหพันธรัฐรัสเซียใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Closed Joint Stock Company “SOJUZPLODOIMPORT” เป็นที่รู้จักในนาม ZAO “SOJUZPLODOIMPORT” หรือแซดเอโอ “โซยูสโพลโดอิมปอร์ต” ประกอบธุรกิจการค้าขายสุราวอดก้า เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYA VODKA” อ่านว่า มอสโก๊ฟสกาย่า โอโซบาย่า วอดก้า และรูปคือเครื่องหมายการค้า (ภาพเครื่องหมายการค้า) โดยได้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวรวมทั้งธุรกิจ (กู๊ดวิลล์) สำหรับประเทศไทยจากฟอร์เรนอีโคโนมิคโคลสท์ จ๊อยต์ สต๊อก คัมปานี “โซยูสโพล โดอิมปอร์ต” หรือวีแซดเอโอ “โซยูสโพลโดอิมปอร์ต” บริษัทร่วมทุนเศรษฐกิจต่างชาติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541 เครื่องหมายการค้าคำและรูปของบริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้ในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศสหพันธรัฐรัสเซียและอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เพื่อใช้กับสินค้าเหล้าวอดก้ามาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี แล้ว และสินค้าเหล้าวอดก้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2533 จำเลยทั้งสองนำคำว่า “MOSKOVSKAYA” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์มาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองสำหรับสินค้าเหล้าวอดก้า โดยจำเลยทั้งสองนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ตามคำขอเลขที่210332 ทะเบียนเลขที่ 153035 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 บริษัทผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำและรูปดังกล่าวสำหรับสินค้าเหล้าวอดก้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนมีคำสั่งปฏิเสธการรับจดทะเบียนด้วยเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของบริษัทนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ 153035 บริษัทดังกล่าวจึงยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ซึ่งมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของตนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ให้ยกคำร้องขอของบริษัทผู้ร้องที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 153035

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” เพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 29 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2533 อันเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 ใช้บังคับ จึงต้องนำพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิมาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 29 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า “เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ห้าปีแล้ว ท่านว่าผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้” แต่บทบัญญัตินี้ก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาด เพราะในวรรคสองของมาตรา 29 ได้บัญญัติต่อไปว่า “ท่านว่าข้อความในพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องร้องคดีซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นและไม่ตัดสิทธิทางแก้อันผู้เสียหายจะพึงมี” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรา 29 วรรคสองดังกล่าวบัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่าแม้จะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยก็อาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้แล้วได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังกล่าว และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ได้บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งอาจร้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า (รูปภาพเครื่องหมายการค้า) จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศสหพันธรัฐรัสเซียและอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป สินค้าเหล้าวอดก้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในวงการผู้แทนจำหน่ายสุรายี่ห้อต่าง ๆ ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยนำคำว่า “MOSKOVSKAYA” มายื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าเหล้าวอดก้าตามทะเบียนเลขที่ 153035 โดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ตามทะเบียนเลขที่ 153035 ดีกว่าจำเลยทั้งสอง ดังนี้ แสดงว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ที่จำเลยทั้งสองนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยทั้งสองเพราะได้มีการใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าเหล้าวอดก้ามาก่อนที่จำเลยทั้งสองจะได้นำไปขอจดทะเบียนโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ของจำเลยที่ 1ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า บริษัทผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSABAYA VODKA” และรูปให้โจทก์ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนของบริษัทผู้ร้องโดยเหตุผลว่า พยานหลักฐานของบริษัทผู้ร้องยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ร้องมีความแพร่หลายเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8(10) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า มิใช่ฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างถึงการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 65 วรรคสอง แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า (รูปภาพเครื่องหมายการค้า) จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงซึ่งได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเหล้าวอดก้าในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศสหพันธรัฐรัสเซียและอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2517 บริษัทผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเหล้าวอดก้าที่ผลิตออกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วโลก จำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในวงการผู้แทนจำหน่ายสุรายี่ห้อต่าง ๆ ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA” ของบริษัทผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์มายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก และมีคำขอบังคับให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า “MOSKOVSKAYA” ตามคำขอเลขที่ 210332 ทะเบียนเลขที่ 153035 ที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ดังนี้ การที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องและขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวย่อมพอถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยได้ฟ้องคดีนี้ต่อศาลโดยอาศัยสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิจากการที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 สำหรับสินค้าเหล้าวอดก้า ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง และที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 210332 ทะเบียนเลขที่ 153035 นั้น ก็มีผลเท่ากับโจทก์ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 153035 นั่นเองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง และศาลย่อมพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 153035 ลงวันที่19 ธันวาคม 2533 ให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 30/2541 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “MOSKOVSKAYA OSOBAYAVODKA” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 294099 ลงวันที่ 25 กันยายน 2538 ต่อไปโดยโจทก์มิได้มีคำขอในส่วนนี้มาในคำฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า”MOSKOVSKAYA” ตามคำขอเลขที่ 210332 ทะเบียนเลขที่ 153035ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2533 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share