แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลักทรัพย์หลายสิ่งหลายเจ้าของอยู่ในเรือลำเดียวกัน และจำเลยลักไปในคราวเดียวกันนั้น ถือได้ว่าเป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยว่าลักทรัพย์ของเจ้าของหนึ่ง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิที่นำคดีมาฟ้องจำเลยในการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นกรรมเดี่ยวกันนั้นจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยหาว่าลักทรัพย์ของอีกเจ้าของหนึ่งซ้ำอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๓๗ จำเลยนี้เป็นคนคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาแดงที่ ๑๑๗/๐๗ ขอให้นับโทษต่อด้วย
จำเลยให้การว่า ได้ลักของกลางรายนี้มาพร้อมกับของกลางในคดีอาญาแดงที่ ๑๑๗/๒๕๐๗ ซึ่งศาลจำคุกไปแล้ว ๓ เดือน คู่ความไม่สืบพยาน
ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๗ จำเลยแถลงว่า ในคดีอาญาแดงที่ ๑๑๗/๒๕๐๗ รองเท้าที่จำเลยลักไป ลักไปจากเรือประจักษ์โชค จำเลยรับสารภาพศาลจำคุก ๓ เดือน คดีถึงที่สุดแล้วของกลางในคดีนี้เป็นของประจำเรือประจักษ์โชคลำเดียวกัน จำเลยลักไปพร้อมกับรองเท้าที่กล่าวแล้ว เป็นการกระทำครั้งเดียวกัน
โจทก์แถลงว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยลักทรัพย์รองเท้าที่จำเลยลักในคดีก่อนกับขอบกลางในคดีนี้เป็นของคนละเจ้าของ จับของกลางได้คนละแห่ง ต่างกรรมต่างวาระกัน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้ของกลางทั้งสองคดีเป็นของสองเจ้าของ การกระทำของจำเลยเป็นครั้งเดียวกรรมเดียว คดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีอาญาแดงที่ ๑๑๗/๒๕๐๗ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์จำเลยแถลงตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๗ และตามที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยนี้ได้บังอาจลักรองเท้าหนัง ๑ คู่ ราคา ๑๐๐ บาทของนายเสนอ สุขยิ่งเจริญ และลักเข็มทิศ ๑ อัน ราคา ๕๐๐ บาท สป็อตไลท์ ๑ ดวง ราคา ๑๕๐ บาท ของนายวิรัช ทรงประจักษ์กุล ไปในคราวเดียวกันด้วย เพราะสิ่งของที่ลักอยู่ในเรือลำเดียวกัน ต่อมาเจ้าพนักงานจับรองเท้าที่จำเลยลักไปได้จากนายชาญ ซึ่งจำเลยเอาไปขายไว้ให้ และฟ้องจำเลยต่อศาล คดีถึงที่สุด ต่อมาเจ้าพนักงานจับของกลางในคดีนี้ได้จากบุคคลอื่นอีก ๒ คน ซึ่งจำเลยนำเอาไปฝากไว้ คนละวันกัน โจทก์จึงแยกฟ้องเป็น ๒ คดี เพราะสองเจ้าของ จึงปรากฏเป็นสำนวนนี้ขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ปัญหามีว่า สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยลักทรัพย์หลายสิ่ง หลายเจ้าของอยู่ในเรือลำเดียวกัน และในคราวเดียวกัน ถือได้ว่าการลักทรัพย์เหล่านั้น
เป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จะถือว่าเป็นหลายกรรมเพราะเป็นทรัพย์หลายเจ้าของ และจับของกลางได้คนละแห่งคนละวันกันก็ไม่ได้ สิทธิที่นำคดีมาฟ้องจำเลยในการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นกรรมเดียวกันนั้นจึงระงับไป เพราะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งได้กล่าวแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยซ้ำอีก พิพากษายืน