คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเวรควบคุมนักโทษในแดน 1 ตั้งแต่ 12.00-18.00 นาฬิกา ก่อนจะออกเวรพ้นหน้าที่จะต้องมอบหน้าที่ให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นยามภายในแดน1 มอบหน้าที่ยามภายนอกและลูกกุญแจตึกขังให้นายสุดใจผู้จะมารับหน้าที่ต่อ แต่เมื่อใกล้ 18.00 นาฬิกา จำเลยที่ 2 มารับหน้าที่คนเดียว จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นยามภายในห้องขังใส่กุญแจตึกขังแล้ว ฝากลูกกุญแจตึกขังไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วละทิ้งหน้าที่ไป เป็นช่องทางให้นักโทษใช้อุบายออกจากห้องขังแล้วจับหรือบังคับจำเลยที่ 2 ให้มอบลูกกุญแจไขตึกขังหลบหนีการควบคุมไปได้ ดังนี้ เป็นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ผิดตามมาตรา 205
จำเลยที่ 2 รู้ดีว่า นายสุดใจจะต้องมารับยามภายนอกและรักษาลูกกุญแจตึกขังตามวิสัยและพฤติการณ์ไม่สมควรรับฝากลูกกุญแจตึกขังไว้ เพราะนักโทษอาจออกจากห้องขังมาบังคับเอาลูกกุญแจตึกขังหนีไปได้ และน่าจะรู้ดีว่า ทางเรือนจำวางระเบียบให้มียามภายนอกในเวลากลางคืน ก็เนื่องจากจะให้มีเจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลเป็นชั้นๆ เมื่อมีเหตุร้ายจะได้ช่วยกันระงับได้ทันท่วงที การยอมรับฝากลูกกุญแจจึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ เป็นเหตุให้นักโทษหลบหนีที่คุมขังออกไป ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยอมรับฝากลูกกุญแจตึกขังไว้จากจำเลยที่ 1 นับว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง นักโทษได้ลูกกุญแจจากจำเลยที่ 2 ไขประตูตึกขังหลบหนีไปได้ จึงเป็นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 205 วรรคท้าย เป็นเรื่องให้งดการลงโทษผู้กระทำผิด ในเมื่อผู้กระทำผิดสามารถจัดให้ได้ตัวผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังคืนมาภายใน 3 เดือน จะจัดโดยวิธีใดก็ได้ มิใช่จะต้องให้โอกาสผู้กระทำผิดไปติดตามผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังเสียก่อนแล้วจึงจะสอบสวนฟ้องร้องลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 2 เป็นผู้คุมตรี เป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังตามอำนาจศาลได้ทำการควบคุมดูแลนักโทษประหารโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของเรือนจำกลางบางขวาง เป็นเหตุให้นักโทษประหารซึ่งมีนักโทษชายสนองกับพวกรวม 5 คน ออกจากห้องขัง ตึกขัง และออกจากแดนได้และต่อสู้เจ้าพนักงานถึงแก่ความตาย 2 คน อีก 3 คนหลบหนีออกจากเรือนจำไปได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 205

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยทั้ง 2 ผิดมาตรา 205 จำคุกคนละ 2 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเวรควบคุมนักโทษในแดน 1 ตั้งแต่ 12.00-18.00 นาฬิกา ก่อนจะออกเวรพ้นหน้าที่จะต้องมอบหน้าที่ให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นยามภายในแดน 1 มอบหน้าที่ยามภายนอกให้นายสุดใจและมอบลูกกุญแจตึกขังให้นายสุดใจผู้จะมารับหน้าที่ต่อ แต่เมื่อใกล้ 18.00 นาฬิกา จำเลยที่ 2 มารับหน้าที่คนเดียว จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นยามภายในห้องขังและใส่กุญแจตึกขัง เนื่องจากนายสุดใจยังไม่มาจึงยังมอบลูกกุญแจตึกขังให้นายสุดใจไม่ได้ จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ฝากลูกกุญแจตึกขังไว้กับจำเลยที่ 2 แล้วละทิ้งหน้าที่ไปเสียเฉย ๆ เป็นช่องทางให้นักโทษในห้องขังใช้อุบายออกจากห้องขังแล้วจับจำเลยที่ 2 หรือบังคับจำเลยที่ 2 ให้มอบลูกกุญแจให้แล้วไขตึกขังหลบหนีการควบคุมไปได้เห็นว่าเป็นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1

ส่วนจำเลยที่ 2 รู้ดีว่านายสุดใจจะต้องมารับหน้าที่เป็นยามภายนอก และจะต้องเป็นผู้รักษาลูกกุยแจตึกขังด้วย และตามวิสัยและพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่ควรรับฝากลูกกุญแจตึกขังไว้จากจำเลยที่ 1 อย่างยิ่ง เพราะนักโทษอาจออกจากห้องขังมาบังคับเอาลูกกุญแจไขตึกขังหนีไปได้และน่าจะรู้ดีว่า การที่ทางเรือนจำวางระเบียบให้มียามภายนอกในเวลากลางคืนก็เนื่องจากจะให้มีหน้าที่ช่วยกันดูแลเอาใจใส่เป็นชั้น ๆ เมื่อมีเหตุร้ายแรงจะได้ช่วยกันระงับได้ทันท่วงที การที่จำเลยที่ 2 ยอมรับฝากลูกกุญแจตึกขังไว้จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ยามภายนอกไปก่อนมอบหมายให้นายสุดใจ เป็นเหตุให้นักโทษหลบหนีที่คุมขังออกไปได้จำเลยที่ 2 จะทราบว่ามีระเบียบไม่ให้รับฝากลูกกุญแจหรือไม่ก็ตามจำเลยที่ 2 ก็ไม่ควรรับฝาก การยอมรับฝากนับว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และฟังได้ว่านักโทษชายสนองกับพวกได้เอาลูกกุญแจตึกขังจากจำเลยที่ 2 ไปไขกุญแจตึกขังแล้วหลบหนีการควบคุมไปได้เป็นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยได้กระทำการโดยประมาท กล่าวคือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 ด้วยนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง จึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share