แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยผู้เป็นนายจ้างตักเตือนโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเป็นหนังสือครั้งแรกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของพนักงานที่เก็บไว้ในสำนักงานสูญหาย ไม่ใช่เป็นการตักเตือนเรื่องดื่มสุราใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นความผิดที่จำเลยกระทำครั้งหลังและจำเลยถือเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการตักเตือนในความผิดคนละเหตุกัน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับคำตักเตือนโจทก์ครั้งที่สอง แม้จะเป็นการตักเตือนในเหตุเดียวกับการกระทำผิดในครั้งหลัง แต่ได้ความว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหลังจากที่จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ 1 ปี 2 เดือน 27 วัน เช่นนี้คำตักเตือนดังกล่าวเนิ่นนานเกินควรที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างในการฝ่าฝืนข้อบังคับครั้งหลังได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานธนาคารออมสิน ครั้งสุดท้ายโจทก์มีตำแหน่งเป็นพนักงานบริการ (รับใช้)สาขาชัยนาท ได้รับเงินเดือนเดือนละ 7,610 บาท ครั้นวันที่ 15 มีนาคม2528 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเป็นกรณีไม่ถึงขั้นร้ายแรง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 45,660 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงาน โดยดื่มสุราในเวลาปฎิบัติงานใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่สมควรต่อผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและต่อเพื่อนพนักงาน ทะเลาะวิวาทกับผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและก้าวร้าวหยาบคายอย่างรุนแรงจนถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดชัยนาท ศาลพิพากษาลงโทษปรับเป็นเงิน 300 บาท อันเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 47(2) (3) และไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 45,660 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง คือวันที่ 15 มีนาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ดื่มสุรามึนเมาใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ และก้าวร้าวต่อผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นการกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาแล้ว 2 ครั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ล. 1(แผ่นที่ 2) ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2526 ตามเอกสารหมายล. 1 (แผ่นที่ 3-4) ซึ่งการตักเตือนเป็นหนังสือนี้ตามกฎหมายมิได้กำหนดว่าต้องมีระยะเวลาเท่าใด จึงต้องถือว่ายังคงมีผลใช้ได้ตราบเท่าที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาแล้วนั้น ปรากฎว่า ที่จำเลยมีคำตักเตือนโจทก์ครั้งแรกตามเอกสารหมาย ล. 1 (แผ่นที่ 2) เป็นการตักเตือนโจทก์ในการปฏิบัติงานเพื่อห้องกันมิให้ทรัพย์สินของพนักงานที่เก็บไว้ในสำนักงานสูญหายมิใช่เป็นการตักเตือนเกี่ยวกับความผิดครั้งหลังที่จำเลยถือเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นความผิดคนละเหตุกัน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ซึ่งจะทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สำหรับคำตักเตือนโจทก์ครั้งที่สองตามเอกสารหมาย ล. 1(แผ่นที่ 3-4) นั้น แม้จะเป็นการตักเตือนในเหตุเดียวกับการกระทำผิดในครั้งหลังที่จำเลยถือเป็นเหตุเลิกจ้าง แต่ได้ความว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2527 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 1 (แผ่นที่ 3-4) 1 ปี 2 เดือน27 วัน เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่จำเลยกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ และระยะเวลาของคำตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เห็นว่า คำตักเตือนนั้นมีอายุเนิ่นนานเกินควรที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างในการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับครั้งหลัง ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล. 1 (แผ่นที่ 60) จำเลยมิได้ยกข้อดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด แม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน