แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 อาจกระทำได้โดยทางใดทางหนึ่งใน 2 ทาง คือ ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยผู้เป็นกรรมการของบริษัทเลือกลงพิมพ์โฆษณาแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์อีกแม้ในการเรียกประชุมใหญ่ครั้งก่อน ๆ จำเลยได้ส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น แต่การเรียกประชุมใหญ่ครั้งนี้จำเลยบอกกล่าวโดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
ฎีกาว่าคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่วิสามัญมีคะแนนเสียงไม่ถึง 3 ใน 4 หรือ 2 ใน 3 ของคะแนนเสียงทั้งหมด เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัททีพีดรักแลบบอราทอรี่ส์ (๑๙๖๙) จำกัด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นกรรมการบริษัท ได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๒๓ ครั้งที่ ๒/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๓/๒๕๒๓ ซึ่งมีระเบียบวาระการเพิ่มทุนของบริษัท แล้วนำผลการประชุมไปขอจดทะเบียนแต่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครไม่รับจดทะเบียนให้โดยแจ้ง ว่าคำขอจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ เพื่อพิจารณาเพิ่มทุนของบริษัท โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์สายกลางฉบับลงวันที่ ๑ และ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๓ กับฉบับลงวันที่ ๑๕ และ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๓ ตามลำดับ แทนการส่งหนังสือบอกกล่าว โจทก์ทั้งสี่ไม่ทราบเรื่องการเรียกประชุมทั้งสองครั้งหลังดังกล่าว การประชุมของจำเลยทั้งเจ็ดทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำการประชุมเพิ่มทุนของบริษัทโดยไม่ให้โจทก์ทั้งสี่ทราบ จึงเป็นการประชุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมติของที่ประชุมก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ และห้ามจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท
โจทก์ไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๖
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๗ ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งสี่ทราบเรื่องการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญทุกครั้งแต่ไม่เข้าประชุม โจทก์ทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ และห้ามมิให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทตามมติของที่ประชุมดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๗๕ หมายความว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมอาจกระทำได้โดยทางใดทางหนึ่งใน ๒ ทางคือ โดยการลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ตามที่กฎหมายกำหนด หรือโดยส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิเลือกกระทำโดยลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และเมื่อจำเลยเลือกกระทำทางนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ไปยังโจทก์หรือผู้ถือหุ้นอื่นอีกตามฟ้องโจทก์เองปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ จำเลยได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์สายกลางสองคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๗๕ โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว แม้ในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๒/๒๕๒๓ จำเลยจะได้ส่งคำบอกกล่าวถึงโจทก์แต่จำเลยมาเปลี่ยนเป็นการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แทนดังกล่าว ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริตดังที่โจทก์อ้าง การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ และครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ จึงเป็นการชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ที่ ๑ ฎีกาว่าคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๔/๒๕๒๓ มีคะแนนเสียงไม่ถึง ๓ ใน ๔ ของคะแนนเสียงทั้งหมดก็ดี และคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ ๕/๒๕๒๓ มีคะแนนเสียงไม่ถึง ๒ ใน ๓ ของคะแนนเสียงทั้งหมดก็ดีนั้น ปัญหาเหล่านี้มิได้เป็นประเด็นแห่งคดี ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไปในทางการที่จ้างโดยประมาท เฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกคันอื่นจนรถยนต์บรรทุกคันนั้นเสียหลักแฉลบพุ่งเข้าชนราวสะพานของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ เพราะได้ขายและโอนสิทธิครอบครองให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ และไม่ได้ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ทั้งจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นฝ่ายขับรถประมาทด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยประมาทแซงเบียดกระแทกชนรถคันที่ถูกแซงไปชนราวสะพานของโจทก์เสียหายตามฟ้อง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วย
ข้อที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ได้ความจากนายสุรศักดิ์ บุรภัทร์ นายช่างตรวจสภาพรถประจำสำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่นเบิกความว่า จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำขอประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๓๒๑๑ ขอนแก่น ที่เช่าซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชีวินยนต์ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง ก็จะนำรถออกประกอบการขนส่งไม่ได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔, จ.๕, จ.๗ และ จ.๘ และจำเลยที่ ๓ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กฎกระทรวง เงื่อนไข ประกาศคำสั่ง และระเบียบตามที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ระบุไว้โดยเฉพาะตามเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๘ ระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้ขอจะใช้รถสำหรับทำการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของผู้ขอเท่านั้น จะไม่นำรถหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถไปทำการรับจ้างขนส่งสินค้าหรือบุคคลแต่ประการใด แม้จำเลยที่ ๓ ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ ๓ หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ ๓ แก่ทางราชการไม่ กลับยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำรถยนต์ไปประกอบการขนส่งในชื่อจำเลยที่ ๓ ได้อีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๒ ร่วมกันประกอบการขนส่งและถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ปฏิบัติการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดกับจำเลยที่ ๑ เช่นเดียวกัน
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.