แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ระเบียบของจำเลยกำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งไม่มีวันลาเกิน36 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 10 วันนั้น ใช้บังคับเฉพาะพนักงานที่มิได้ลาเกินกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ถึง 10 วันเท่านั้น หามีผลเป็นการตัดสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างที่ลาเกินกำหนดซึ่งมีอยู่ 6 วันทำงานตามกฎหมายไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ขอหยุดพักผ่อนประจำปีแต่จำเลยไม่อนุญาตให้หยุดพักผ่อนตามกฎหมาย เนื่องจากจำเลยออกระเบียบว่าด้วยการทำงานฯ ความว่า เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาทำงานติดต่อกันมาครบหนึ่งปีซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาไม่ขาดงาน หรือไม่มีวันลากิจ ลาป่วย รวมกันเกิน 36 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ10 วัน การที่จำเลยกำหนดดังกล่าวน่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ศาลบังคับจำเลยอนุญาตให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา 10 วัน ถ้าไม่อาจให้โจทก์หยุดพักผ่อนได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยคิดอัตราเท่ากับค่าทำงานในวันหยุด 10 วัน ขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้ระเบียบของจำเลยเฉพาะส่วนที่น่าจะขัดกับกฎหมายเป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ลาป่วย 41 วัน โจทก์ที่ 2 ลาป่วย 37 วันในรอบปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะขัดต่อระเบียบว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี 6 วันทำงาน ถ้าไม่อาจให้โจทก์หยุดพักผ่อนได้ ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยคิดอัตราเท่ากับค่าทำงานในวันหยุด 6 วันคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในรอบปีทำงาน โจทก์ที่ 1 ลาป่วย 41 วัน โจทก์ที่ 2 ลาป่วย 37 วัน ระเบียบว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาจำเลย ข้อ 11 ความว่า เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาทำงานติดต่อกันมาครบหนึ่งปี ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาไม่ขาดงาน หรือไม่มีวันลากิจ ลาป่วย รวมกันเกิน 36 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน ปัญหามีว่า โจทก์ลาป่วยในรอบปี รวมกันเกิน 36 วันจะมีสิทธิได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 10กำหนดว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน” ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีผลบังคับอย่างกฎหมาย จึงจะกำหนดเป็นอย่างอื่นในลักษณะที่เป็นการตัดสิทธิของพนักงานที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีที่มีอยู่ตามกฎหมายหาได้ไม่ การที่จำเลยออกระเบียบว่าด้วยการทำงานฯ ไม่ให้พนักงานที่ลากิจ ลาป่วย รวมกันเกิน 36 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วันนั้น ระเบียบนี้คงใช้บังคับได้เฉพาะในส่วนที่ให้พนักงานซึ่งมิได้ลากิจ ลาป่วย เกินกำหนด ให้มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ถึง 10 วัน เท่านั้น แต่หามีผลเป็นการตัดสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายไม่ โจทก์คงยังมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมาย
พิพากษายืน