แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาที่อ้างว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของโจทก์โดยผู้พิพากษานายเดียวเป็นผู้ลงนามในคำสั่งนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา23เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามมาตรา21(2)อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่มีผู้พิพากษาครบองค์คณะได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2535 เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีความว่า ศาลชั้นต้นมีหมายบังคับคดีบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาซึ่งศาลมีคำสั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากตึกแถว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองตึกพิพาทอาคารเลขที่ 158/115-135 รวม 21 ห้อง โดยรับโอนสิทธิการเช่าและโอนการครอบครองมาจากโจทก์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน มาตั้งแต่ปี 2528 จนกระทั่งปัจจุบัน ตามหลักฐานการโอนท้ายคำร้อง โจทก์มิได้อาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว ผู้ร้องได้จัดให้ผู้มีชื่อเช่าอาคารดังกล่าวข้างต้นมาตั้งแต่ปี 2528 โดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ผู้ร้องและผู้เช่าไม่ได้เป็นบริวารของโจทก์(ผู้เช่าเป็นบริวารของผู้ร้อง) ผู้ร้องไม่ทราบว่าอาคารดังกล่าวมีข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้นประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงบังคับผู้ร้องและผู้เช่าอาคารดังกล่าวไม่ได้ ผู้ร้องและผู้เช่ามีอำนาจพิเศษ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับผู้เช่าตึกแถวพิพาทจากผู้ร้องเป็นบริวารของโจทก์ทั้งสองเพราะผู้ร้องกับผู้เช่าเข้าอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิจากโจทก์ทั้งสอง ขณะที่ผู้ร้องกับผู้เช่าของผู้ร้องเข้ามาอยู่ในตึกแถวพิพาทเมื่อปี 2528 นั้นโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อพิพาทฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลชั้นต้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยไม่เคยจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจที่จะโอนสิทธิการเช่าและการครอบครองให้แก่ผู้ร้อง และจำเลยไม่เคยได้รับเงินค่าเช่าจากผู้ร้องกับผู้เช่าของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง แต่พอถึงวันนัดเห็นว่าคดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนให้งดไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนคำร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยผู้พิพากษานายเดียวลงนามในคำสั่งไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 จึงพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ผู้ร้องฎีกา ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีหมายบังคับคดีให้โจทก์และบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท เมื่อผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของโจทก์แต่จำเลยคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของโจทก์ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทจะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของโจทก์หรือไม่ซึ่งการที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยปกติศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนโดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างและข้อคัดค้านของตนแล้วจึงจะวินิจฉัยชี้ขาด แต่สำหรับคดีนี้การที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของโจทก์ เพราะผู้ร้องได้รับโอนสิทธิการเช่าและการครอบครองตึกแถวพิพาทมาจากโจทก์ ซึ่งก็ปรากฏตามสัญญาโอนสิทธิการเช่าและโอนการครอบครองอาคารท้ายคำร้องของผู้ร้องว่า โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างมีสิทธิครอบครองและมีสิทธิให้เช่าตึกแถวพิพาท โจทก์ตกลงโอนสิทธิการเช่าและการครอบครองให้แก่ผู้ร้อง โดยจะดำเนินการให้ผู้ร้องเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยพร้อมกับจดทะเบียนการเช่าตามกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 30วัน นับแต่วันทำสัญญา ดังนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ร้องมิได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย การที่ผู้ร้องเข้าคอรบครองอ้างสิทธิในตึกแถวพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิการเช่าระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ กรณีจึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของโจทก์ดังนั้นแม้จะทำการไต่สวนและฟังข้อเท็จจริงได้ตามคำร้อง ก็คงต้องฟังว่าผู้ร้องเป็นบริวารของโจทก์อยู่นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่สั่งงดการไต่สวนจึงชอบแล้ว และเมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าศาลชั้นต้นงดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องโดยตรงแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจยกปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องโดยผู้พิพากษานายเดียวเป็นผู้ลงนามในคำสั่งนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 21(2) อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน