แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ย. ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่และขอสละประเด็นนี้ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงเป็นอันยุติไปและไม่เป็นประเด็นที่ศาลภาษีอากรกลางต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นและถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการของสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องอ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 31 วรรคท้าย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถที่จะยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดิน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่จะเข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้า แต่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์สาธารณะเสียหาย เพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะ จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 ส่วนกรณีทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษี ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 57 เลขที่ 85 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 เลขที่ 19 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 68,400 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่ง โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่บังคับให้ส่งเรื่องที่มีกรณีพิพาทให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการส่งเรื่องให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ และเมื่อโจทก์ผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นรัฐวิสาหกิจ หากไม่พอใจคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด และคำชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 และ 27 การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 และ 8 นอกจากนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะสภาพการใช้ประโยชน์อย่างสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และ 6 อีกทั้งทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) หมายถึง ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ทรัพย์สินของโจทก์ใช้ในการประกอบกิจการก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์ ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษี การประเมินและคำชี้ขาดการประเมินของจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมิน ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 57 เลขที่ 85 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 11) เล่มที่ 1 เลขที่ 19 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 68,400 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลภาษีอากรกลางได้นั่งพิจารณาเพื่อฟังการตกลงยอมรับข้อเท็จจริงของคู่ความก่อนถึงวันนัดสืบพยานตามคำแถลงของทนายจำเลย ทนายจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางเยาวเรศยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จริง จึงขอสละประเด็นนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงเป็นอันยุติไปและไม่เป็นประเด็นที่ศาลภาษีอากรต้องวินิจฉัยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายหรือไม่ เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่ากรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือใช้ในกิจการสาธารณะซึ่งมีไว้เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ย่อมได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด ถือว่าเป็นการฟ้องอ้างว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย และคำชี้ขาดดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่ดินจำเลยประเมินหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ตู้โทรศัพท์สาธาณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 และ 8 และตู้โทรศัพท์สาธาณะของโจทก์ใช้ในการประกอบกิจการก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์และไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธาณะ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาลักษณะตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งแม้จะวางอยู่บนแท่นคอนกรีตและสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเพราะไม่ได้เชื่อมติดกับทางสาธารณะหรือพื้นดินเป็นการถาวรและไม่มีลักษณะเป็นส่วนควบกับที่ดินทั้งไม่มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เข้าอยู่อาศัยได้หรือใช้เป็นที่ไว้สินค้าแต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือเป็นส่วนควบกับที่ดินเท่านั้น และตู้โทรศัพท์สาธาณะของโจทก์มิได้มีการเคลื่อนย้ายแต่ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย เพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ส่วนกรณีทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์