แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือการกระทำใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานต่ออยู่ไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 52 นั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างในบางกรณีอาจเป็นการขัดผลประโยชน์ของนายจ้าง ซึ่งอาจทำให้นายจ้างไม่พอใจ และกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้างได้จึงจำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบเสียก่อนว่านายจ้างมีเหตุสมควรที่จะกระทำดังกล่าวหรือไม่
โจทก์กับ ย. มีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและพักงานโจทก์ โดยในขณะนั้นโจทย์ยังมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังไม่ทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงมิได้เป็นเพราะจำเลยไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะที่เป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่พอใจเนื่องจากโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งกฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างแต่ประการใด อีกทั้งการประชุมเพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างก็จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนและมิได้จัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยทราบดีว่าโจทก์ถูกพักงานและถูกตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการเป็นกรรมการลูกจ้างมาขอความคุ้มครองจากศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวกับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้ได้รับค่าจ้าง สภาพการจ้างและสวัสดิการเดิมทุกประการ รวมทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท แก่โจทก์ กับค่าเสียหายอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ก่อนเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า สหภาพแรงงานโออิชินวนครจัดประชุมแต่งตั้งโจทก์และนายยงยุทธเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยในขณะที่จัดให้มีการประชุมนั้นนายธวัชในฐานะประธานสหภาพดังกล่าวก็ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์กับนายยงยุทธมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน โจทก์ถูกจำเลยพักงานในระหว่างสอบสวน แต่สหภาพแรงงานยังแต่งตั้งโจทก์กับนายยุทธเป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งที่ย่อมคาดหมายได้อยู่แล้วว่าโจทก์กับนายยงยุทธจะถูกจำเลยเลิกจ้าง การประชุมสหภาพแรงงานดังกล่าวจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณเที่ยงคืน ที่หน้าบ้านพักของนายธวัช ไม่จัดให้เป็นกิจจะลักษณะ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรม ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โจทก์อาศัยเหตุดังกล่าวเป็นมูลฟ้องร้องจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการวินิจฉัยไปถึงอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 หาเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบไม่ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ที่ว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้จำเลยจะทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างหลังจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว การเลิกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนก็ย่อมไม่มีผลเป็นการเลิกจ้าง สมควรเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามคำขอของโจทก์นั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ที่ว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างในบางกรณีอาจเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของนายจ้าง นายจ้างจึงอาจไม่พอใจและกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้างได้ การที่นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้างลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงจำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเพื่อให้ศาลแรงงานตรวจสอบเสียก่อนว่านายจ้างมีเหตุผลสมควรที่จะกระทำการดังกล่าวนั้นหรือไม่ เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์กับนายยงยุทธมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและในระหว่างสอบสวนโจทก์ถูกจำเลยพักงาน โดยในขณะนั้นโจทก์ยังมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังไม่ทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์จึงมิได้เป็นเพราะจำเลยไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะที่เป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่พอใจเนื่องจากโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งกฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองกรรมการลูกจ้างแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้นในขณะจัดให้มีการประชุมเพื่อแต่งตั้งโจทก์กับนายยงยุทธเป็นกรรมการลูกจ้างนั้น นายธวัชในฐานะประธานสหภาพแรงงานโออิชินวนครก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยตั้งกรรมการเพื่อสอบสวน และโจทก์ถูกพักงานในระหว่างสอบสวน แต่สหภาพแรงงานโออิชินนวนครก็ยังแต่งตั้งโจทก์กับนายยงยุทธเป็นกรรมการลูกจ้างทั้งที่ย่อมเป็นที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่าโจทก์กับนายยงยุทธจะถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยการประชุมก็จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนและมิได้จัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อพฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งโจทก์ก็อาศัยเหตุนี้มาเป็นมูลฟ้องร้องจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เช่นนี้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการเป็นกรรมการลูกจ้างมาขอความคุ้มครองจากศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวกับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน