แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยให้การว่าราคาสินค้าในใบขนสินค้าสำแดงตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง ดังนี้ เป็นการปฏิเสธข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของโจทก์ ภาระการพิสูจน์ตามข้ออ้างตกเป็นหน้าที่โจทก์ผู้กล่าวอ้าง
การที่จะถือว่าเป็น “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” ตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 นั้น จะต้องพิจารณาถึงประเภท ชนิด เวลาที่นำเข้าของสินค้าเป็นสำคัญ ส่วนการจะเรียกเก็บภาษีอากรในพิกัดเดียวกันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ภาวะความต้องการของผู้บริโภค ตามเวลาและโอกาสที่แตกต่างกัน
เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนที่ว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด และจำเลยไม่สุจริตอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าราคาสินค้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าสำแดงตามราคาท้องตลาดที่แท้จริงตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ สั่งสินค้าผ้าทอเส้นใยประดิษฐ์จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ ๑ ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อโจทก์ที่ ๑ และเสียค่าภาษีอากร จำเลยที่ ๑ ได้รับสินค้าดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ ตรวจสอบสินค้า ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ จึงได้ประเมินอากรใหม่ และได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว จำเลยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระให้โจทก์และไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีอากรเพิ่มภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จำเลยที่ ๑ จึงต้องชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ เป็นเงินเพิ่ม ๘๒.๘๒ บาทต่อเดือน เป็นเงินค่าภาษีอากร ๕๓,๖๐๗.๘๗ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน ๕๒,๖๐๗.๘๗ บาท ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มค่าภาษีอากรเข้าในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินค่าอากรขาเข้า ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นเงินเดือนละ ๒๙๐.๐๗ บาท ตั้งแต่เดือนถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินค่าภาษีการค้าที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นเงินเดือนละ ๘๒.๘๓ บาท ตั้งแต่เดือนถัดจากฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้สั่งสินค้าผ้าทอด้วยเส้นใยประดิษฐ์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง ที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ ประเมินราคาสินค้าเพิ่มตามฟ้อง เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ ๑ ประเมินโดยไม่มีหลักฐานแน่นอน จำเลยทั้งสองไม่ได้รับการแจ้งการประเมินภาษีอากร จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดภาษีการค้าและภาษีเทศบาลเพิ่ม และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ ๔๒,๖๐๗.๘๗ บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรเป็นเงินเดือนละ ๒๙๐.๐๗ บาท นับแต่เดือนถัดจากฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินค่าภาษีเป็นเงินเดือนละ ๘๒.๘๓ บาท นับแต่เดือนถัดจากฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่มิให้เกินกว่า ๓,๐๓๗.๓๓ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ราคาสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สำแดงไว้ในใบขนสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยทั้งสองให้การว่าราคาสินค้าในใบขนสินค้าสำแดงตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง อันเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องของโจทก์ ภาระการพิสูจน์ตามข้ออ้างอังกล่าวจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองผู้กล่าวอ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ และในปัญหานี้โจทก์ทั้งสองนำสืบพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวว่า นางสาวชไมพร เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ ๑ ตรวจพบว่าราคาสินค้าพิพาทที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้า ตามเอกสารหมาย จ.๑ ของจำเลยที่ ๑ นั้น ต่ำกว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่เคยมีผู้นำเข้ามาแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๒ โจทก์ที่ ๑ จึงได้ประเมินราคาสินค้ารายพิพาทเท่ากับราคาสินค้าที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๒ ตามเอกสารหมาย จ.๒ นั้น ผู้นำเข้าได้นำเข้าเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ ส่วนตามเอกสารหมาย จ.๑ นั้น จำเลยที่ ๑ ได้นำเข้าเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ระยะเวลาที่นำเข้าแตกต่างกันประมาณ ๑ ปี ๘ เดือน รายละเอียดที่ปรากฎในช่องชนิดของตามเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๑ นั้น ระบุไว้ไม่เหมือนกัน โดยเอกสารหมาย จ.๒ ระบุ เรยอง ๔๘ เปอร์เซ็นต์ แอคซิเดท ๕๒ เปอร์เซ็นต์ ส่วนเอกสารหมาย จ.๑ ระบุ เรยอง ๖๘ เปอร์เซ็นต์ แอคซิเตท ๓๒ เปอร์เซ็นต์ คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒ หมายความว่า “ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่นำของเข้าหรือส่งของออก แล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวกรณีที่จะถือว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดจะเป็นอย่างเดียวกันได้นั้น จะต้องพิจารณาถึงประเภท ชนิด เวลา ที่นำเข้าเป็นสำคัญในประการแรก ในเมื่อของตามเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ ระบุรายละเอียดในช่องชนิดของของแตกต่างกัน และเวลาที่นำเข้าก็แตกต่างกันมากดังที่กล่าวแล้วเช่นนี้ การที่โจทก์ทั้งสองถือเอาราคาที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๒ มาเป็นข้ออ้างเพื่อประเมินราคาของตามเอกสารหมาย จ.๑ ว่าต้องเท่ากันนั้น จึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งการที่ของจะต้องเรียกเก็บภาษีอากรในพิกัดเดียวกันนั้น มิได้หมายความว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาของของในพิกัดนั้นจะเป็นเช่นเดียวกันเสมอไปเพราะราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของจะเป็นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ของประเภทเดียวกัน ถ้าคุณภาพแตกต่างกัน ราคาก็ย่อมแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะความต้องการของผู้บริโภคของนั้น ๆ ตามเวลาและโอกาสที่แตกต่างกัน หลักเกณฑ์ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามที่กล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ และที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาว่าสินค้าที่จำเลยที่ ๑ นำเข้ามาภายหลังราคาจะต้องสูงขึ้นกว่าสินค้าที่นำเข้ามาก่อนนั้น ก็มิใช่เหตุที่จะเป็นดังอ้างเสมอไป เพราะความเป็นไปได้นั้นอาจมีทั้งทางที่เพิ่มขึ้นและลดลง นอกเหนือจากเอกสารหมาย จ.๒ ที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมาเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนแล้วไม่มีพยานหลักฐานใดของโจทก์ทั้งสองที่จะนำมาพิจารณาเป็นข้อสนับสนุนข้ออ้างได้อีก ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองว่า ราคาสินค้าที่สำแดงไว้ตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งระบุราคาตามที่ปรากฏในใบอินวอยซ์เอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖ ว่า “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า ถ้าถือราคาตามใบบัญชีราคาสินค้าของผู้นำเข้าว่าถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๘ มาตรา ๑๑๒, ๑๑๒ ทิว นั้น เห็นว่า กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทกฎหมายที่โจทก์ทั้งสองอ้างนั้น ก็มีอยู่ตามที่บทกฎหมายบัญญัติไว้ แต่สำหรับที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้นั้น เป็นเรื่องที่พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ได้ว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แตกต่างไปจากราคาที่จำเลยที่ ๑ ได้สำแดงไว้ เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริง มิใช่วินิจฉัยให้เป็นหลักกฎหมายว่าต้องถือราคาตามเอกสารที่จำเลยที่ ๑ สำแดงข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่มีเหตุจะให้รับฟัง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน