คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลอ้างตัวเองเป็นพยาน โดยไม่ระบุชัดเจนว่าผู้ใดจะมาเบิกความแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยของจำเลยเข้าเบิกความไปแล้ว จำเลยจะย้อนไปนำส. กรรมการคนหนึ่งของจำเลยเข้าเบิกความอีกโดยไม่แสดงเหตุผลและความจำเป็น ที่จำเลยต้องนำ ส. เข้าเบิกความหลังพยานอื่นหาได้ไม่ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อนำ ส.เข้าเบิกความ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว จำเลยขอเลื่อนคดีเพื่อจะนำ ว. เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันภัยเข้าเบิกความแต่จากการที่ศาลสอบโจทก์ปรากฏว่าโจทก์เคยร้องเรียนไปยังสำนักงานประกันภัยให้สั่งจำเลยใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ แต่สำนักงานประกันภัยแจ้งว่าสินค้าสูญหายก่อนที่จะออกกรมธรรม์ประกันภัย ไม่อาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบ ว. พยานจำเลยจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้วเช่นเดียวกัน การที่ศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปหรือเห็นว่าเพียงพอแล้วจะให้งดเสียหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งได้ตามควรแก่กรณีแห่งเรื่อง เพื่อให้คดี ดำเนิน ไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม โจทก์กับจำเลยเคยติดต่อทำสัญญาประกันภัยกันหลายครั้งโดยผ่านส.ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยโดยส. จะไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์เพื่อกรอกข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการประกันภัยสินค้ารายพิพาทโจทก์ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมา โดยในวันที่ 22 สิงหาคม 2528 โจทก์แจ้งให้ ส.ไปรับสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อทำประกันภัยสินค้ารายพิพาทเมื่อ ส. ได้รับมาแล้วได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยทราบว่ามีประกันภัยทางทะเลของโจทก์ 3 ราย พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดให้ทราบด้วย เจ้าหน้าที่ของจำเลยจะส่งคนไปรับสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ในวันนั้นไม่มีผู้ใดไปรับจนกระทั่งวันที่ 26 สิงหาคม 2528เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไปรับและนำกรมธรรม์ประกันภัยรายพิพาทมามอบให้ ส.ส. มอบให้โจทก์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2528แต่ปรากฏว่าเรือบรรทุกสินค้าได้อัปปาง ลงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม2528 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2528 โดยฝ่าย ส. ตัวแทนของจำเลย แม้จำเลยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยในภายหลัง ความรับผิดของจำเลยย่อมเริ่มตั้งแต่เมื่อได้เริ่มตกลงรับประกันภัยไว้เป็นต้นไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเมื่อเดือนมีนาคม 2528 โจทก์สั่งซื้อฝ้ายดิบจำนวน 100 ตัน จากผู้ขายในประเทศสวิตเชอร์แลนด์ ผู้ขายให้บริษัทซึ่งอยู่ที่กรุงการาจีประเทศปากีสถานจัดส่งฝ้ายดิบลงเรือเดินสมุทรชื่อ “นาวาชา” ณท่าเรือเมืองการาจี ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2528 เพื่อขนส่งฝ่ายดิบดังกล่าวมาให้โจทก์ ณ ท่าเรือกรุงเทพมหานคร ซึ่ง เป็นการซื้อขายในระบบซีแอนด์เอฟ ที่โจทก์จะต้องเอาประกันภัยในระหว่างการขนส่งทางทะเล เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 โจทก์เอาประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลสำหรับฝ้ายดิบดังกล่าวราคา 2,972,243 บาทไว้กับจำเลย จำเลยตอบสนองรับประกันแล้ว ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2528จำเลยได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยมาให้โจทก์ วันที่ 27 สิงหาคม 2528โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 เรือนาวาชา เกิดอุบัติเหตุอัปปางลงในทะเล สินค้าของโจทก์เสียหายหมด โจทก์แจ้งให้จำเลยพิจารณาใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้จำเลยใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2,972,243 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นขอประกันภัยในวันที่ 29 สิงหาคม 2528ซึ่งจำเลยก็ได้พิจารณาคำขอของโจทก์ในวันเดียวกันนั้น สัญญาประกันภัยจึงมีผลคุ้มครองนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเพราะวินาศภัยเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสัญญาประกันภัย ความจริงโจทก์ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อบรรทุกลงเรือนาวาชา และโจทก์ทราบกำหนดเดินเรือก่อนทำสัญญาประกันภัย ทั้งได้รับทราบแล้วว่าเรือนาวาชา อัปปางตั้งแต่วันที่ 23สิงหาคม 2528 ก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย โจทก์ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยให้ทำสัญญาประกันภัยรายพิพาทอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลไม่ถึงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 100,842.15 เหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันชำระ แต่คิดแล้วเงินที่จำเลยจะต้องใช้แก่โจทก์ต้องไม่เกินจำนวน 2,972,243 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งตัดพยานของจำเลยตามรายงานระบ วันพิจารณาฉบับลงวันที่ 4ธันวาคม 2529 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามบัญชีระบุพยานของจำเลยฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2529 อันดับ 1 ระบุว่าจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานโดยไม่ระบุให้ชัดว่า บุคคลธรรมดาผู้ใดจะเบิกความแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและปรากฏว่าจำเลยได้นำพยานบุคคล อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานประกันภัยของจำเลยเข้าเบิกความไปก่อนแล้วโดยไม่แถลงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องนำนายสุเมธ เข้าเบิกความตามหลังพยานอื่น เพราะความจริงจำเลยน่าจะนำนายสุเมธ ในฐานะกรรมการของจำเลยเข้าเบิกความเปิดคดีก่อนพยานอื่น ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีไปเพื่อนำพยานปากดังกล่าวมาศาล เป็นการใช้ดุลพินิจชอบแล้ว สำหรับนายวัชระ อิ่มพิทักษ์ ซึ่งรับราชการกองนิติการ สำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ศาลสอบแล้วโจทก์แถลงรับว่าโจทก์เคยร้องเรียนไปยังสำนักงานประกันภัยให้สั่งจำเลยใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ สำนักงานประกันภัยแจ้งว่าเรือบรรทุกสินค้าอัปปางสินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายก่อนวันออกกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่จำเป็นที่จำเลยจะขอเลื่อนคดีเพื่อนำพยานปากดังกล่าวมาศาล จึงให้งด เป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาชอบแล้ว เช่นกัน การที่ศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปหรือเห็นว่าเพียงพอแล้วจะให้งดเสียหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งได้ตามควรแก่กรณีแห่งเรื่อง เพื่อให้คดี ดำเนิน ไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้วที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาประกันภัยมีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม2528 เป็นต้นไป ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2528 นั้น ในข้อนี้ได้ความจาก นายเฉลิม เหล่าประภัสสร นายสมคิด นฤนาท ดำรงค์ว่าโจทก์เอาประกันภัยในการขนส่งสินค้าทางทะเลกับจำเลยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ในแต่ละเดือนโจทก์จะทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยประมาณ 4-8 ครั้ง ในแต่ละปีโจทก์จะจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยประมาณจำนวน 300,000 ถึง 400,000 บาท ทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยแต่ละครั้งนั้น ผู้จัดการของโจทก์จะโทรศัพท์แจ้งนายสมคิดซึ่งมีอาชีพเป็นตัวแทนประกันภัยของจำเลยว่าจะประกันภัย นายสมคิดจะรู้ทันทีว่าเป็นการประกันภัยทางทะเล โจทก์จะแจ้งให้ทราบว่าสินค้าอะไร สั่งซื้อจากประเทศไหน ราคาประมาณเท่าไร จำนวนเงินที่จะเอาประกันและสั่งให้นายสมคิดไปเอาสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์เพื่อใช้ในการกรอกข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 นายเฉลิม ให้โทรศัพท์ไปหานายสมคิดบอกว่าให้ไปเอาสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อทำประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล 3 ฉบับ สำหรับสินค้ารายพิพาทเป็นฝ้ายดิบที่โจทก์สั่งซื้อจากประเทศปากีสถาน ราคาประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐเมื่อทราบแล้วนายสมคิดติดธุระจึงได้มอบให้นางสาวมนุวไร นฤนาทดำรงค์ไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากนายเฉลิม เวลาประมาณ 12นาฬิกา ของวันที่ 22 สิงหาคม 2528 เมื่อได้มาแล้วนายสมคิดได้โทรศัพท์ไปที่บริษัทจำเลยพูดกับนางสาวสุวรรณี พิศาลพัฒนะกุล ว่ามีการประกันภัยทางทะเล 3 ราย เป็น ของโจทก์แจ้งรายละเอียดว่าสินค้าอะไร ซื้อมาจากไหน ราคาเท่าไร นางสาวสุวรรณี จะส่งคนไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิต นายสมคิดรออยู่จนถึงเวลา 16 นาฬิกา ไม่มีผู้ใดไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิต นายสมคิดจึงโทรศัพท์ไปหานางสาวสุวรรณี อีกครั้ง ได้ความว่าเจ้าหนี้ที่ของจำเลยผู้มีหน้าที่ยังไม่กลับเข้าบริษัทจำเลย จึงขอผัดเป็นวันรุ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ไม่มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิต นายสมคิดจึงให้นางสาวมนุวไร โทรศัพท์ไปเตือน ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดไปรับในวันนั้น ต่อมาวันที่ 24 และ25 สิงหาคม 2528 เป็นวันหยุดราชการ วันที่ 26 สิงหาคม 2528 ตอนเช้าเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไปรับสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตจากนายสมคิดและในวันนั้นเองเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำกรมธรรม์ประกันภัยรายพิพาทไปมอบแก่นายสมคิดเวลาประมาณ 12 นาฬิกา นายสมคิดนำกรมธรรม์ประกันภัยรายพิพาทไปมอบแก่โจทก์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2528 ปรากฏว่าเรือบรรทุกสินค้ารายพิพาทได้อัปปางลงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528ได้ความจากนางสาวมนุวไร ว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2528 นายสมคิดใช้ให้ไปเอาสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์ และในวันนั้นเองได้โทรศัพท์ไปบอกนางสาวสุวรรณี เจ้าหน้าที่ของจำเลยให้ไปรับสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากนายสมคิด เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความถึงข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยเคยปฏิบัติกันมาในเรื่องการเอาประกันภัยทางทะเลเป็นเวลานานประมาณ 14 ปี โดยผ่านทางนายสมคิดซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยในวันที่ 22 สิงหาคม 2528 โจทก์และจำเลยติดต่อเอาประกันภัยทางทะเลกันทาง โทรศัพท์ผ่านนายสมคิดเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา โดยเอาประกันภัยกันไว้ 3 รายการด้วยกัน โจทก์อ้างสำเนาหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบ 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.3,จ.4 และ จ.5 เมื่อตกลงเอาประกันภัยกันแล้วจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2528 ตามเอกสารหมาย จ.8,จ.9, จ.10 ในกรมธรรม์ประกันภัย 3 ฉบับ อ้างถึงหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิต 3 ฉบับ ซึ่งลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 วันที่ 30กรกฏาคม 2528 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2528 ตามลำดับ ทำให้น่าเชื่อว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2528 ซึ่งพยานโจทก์เบิกความถึงการเอาประกันภัยทางทะเล 3 รายด้วยกัน คือรายตามหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งลงวันที่เรียงลำดับกันไป 3 ฉบับ นั่นเองการที่จำเลยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2528ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เอาประกันภัยกับจำเลยในวันนั้น น่าเชื่อว่ากรมธรรม์ประกันภัยออกให้แก่กันในภายหลัง และมีเหตุล่าช้าดังที่โจทก์นำสืบว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยผู้มีหน้าที่ไปรับหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ไปรับหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตในวันที่ 22สิงหาคม 2528 ตามที่นายสมคิดได้ให้นางสาวมนุวไร ไปรับมาจากโจทก์แล้ว การติดต่อเอาประกันภัยทางทะเลซึ่งโจทก์ติดต่อผ่านนายสมคิดผู้เป็นตัวแทนของจำเลยมานานหลายปีและติดต่อกันจำนวนมากถึงเดือนละประมาณ 4-8 ครั้ง ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้นมาก่อน น่าเชื่อว่านายสมคิดจะได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยทันทีในวันที่ 22 สิงหาคม 2528นั่นเอง จำเลยหาได้นำสืบหักล้างเหตุผลในการปฏิบัติกันระหว่างโจทก์และจำเลยว่าไม่เคยติดต่อเอาประกันภัยกันทาง โทรศัพท์และไม่โต้แย้งว่าการออกกรมธรรม์ประกันภัยทำให้กันในภายหลังจากตกลงเอาประกันภัยกันแล้วได้หรือไม่ จำเลยเพียงแต่นำสืบว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้รับโทรศัพท์จากนายสมคิดและนางสาวมนุวไร ในวันที่ 22 สิงหาคม2528 เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับโทรศัพท์ในวันที่ 23 สิงหาคม 2528จำเลยให้เจ้าหน้าที่ไปรับหนังสือเลตเตอร์ออฟเครดิตจากนายสมคิดในวันนั้น และออกกรมธรรม์ประกันภัยรายพิพาทให้แก่โจทก์ในวันนั้นโดยจำเลยไม่ได้ นำสืบว่าระเบียบปฏิบัติของจำเลยเป็นอย่างไร ไม่ปรากฎว่าตกลงเอาประกันเวลาใดจะต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยในเวลานั้นหรือไม่ศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประกันภัยกันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 โดยติดต่อผ่านนายสมคิดซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยตามที่ปฏิบัติกันมานาน แม้จำเลยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ในภายหลัง ความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยย่อมมีเริ่มตั้งแต่เมื่อได้ตกลงรับประกันภัยไว้เป็นต้นไป
พิพากษายืน.

Share