แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่าบุคคลผู้ถูกควบคุมนั้นมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมจริงหรือไม่โดยเฉพาะในคำสั่งก็ไม่มีข้อความระบุว่าให้อำนาจในการจับกุมและควบคุมของเจ้าพนักงานเป็นที่สุด หรือห้ามบุคคลใด ๆ นำกรณีดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาล ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมจริงหรือไม่ อันจะนำข้อเท็จจริงไปสู่ข้อวินิจฉัยว่าการที่เจ้าพนักงานควบคุมบุคคลผู้นั้น เป็นการควบคุมโดยชอบหรือผิดกฎหมาย
เมื่อมีคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90และศาลได้หมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งก่อให้เกิดการควบคุมหรือขังเข้ามาในคดีแล้ว ย่อมถือว่ามีข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งเป็นผู้คัดค้าน และเป็นคู่ความ เมื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งอย่างไร หากผู้ร้องหรือผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยตามคำสั่งก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกฎหมาย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เป็นภริยาของนายเริ่ม จิตมั่น ซึ่งกำลังถูกควบคุมอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรี ในข้อหาว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ความจริงนายเริ่มมิได้เป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคม การกระทำของเจ้าพนักงานผิดเจตนารมย์ตามคำสั่งฯ ถือว่านายเริ่มต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ขอให้ศาลไต่สวนและสั่งปล่อยนายเริ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้านว่า พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจได้สืบสวนแล้ว เห็นว่านายเริ่มเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมตามคำสั่งฯ การกระทำของผู้คัดค้านและตำรวจผู้จับกุมเป็นการกระทำที่ชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านแถลงว่าได้จับกุมนายเริ่มตามคำสั่งฯ ข้อ 1 อนุ (1)(3)(4)(7)
ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว วันนัดสืบพยานผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านนำพยานเข้าสืบได้รวม 4 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือนัดหน้า ศาลชั้นต้นเห็นว่า ได้ให้โอกาสผู้คัดค้านพอสมควรแล้ว และบรรดาพยานที่จะสืบประเด็นใด พยานที่ผู้คัดค้านนำเข้าสืบได้เบิกความถึงไว้หมดแล้ว จึงให้งดสืบพยานผู้คัดค้าน แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่แน่ชัดเพียงแต่สืบสวนได้ความมา ไม่พอฟังว่านายเริ่มมีพฤติการณ์เป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคม การจับกุม ควบคุมหรือขังนายเริ่มไว้เป็นการไม่ต้องด้วยเจตนารมย์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายเริ่ม
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้คัดค้านต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อแรกซึ่งผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามเจตนารมย์ของคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 อำนาจในการวินิจฉัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมหรือไม่ และอำนาจในการควบคุมบุคคลดังกล่าวไว้เพื่อการอบรม เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะศาลไม่มีอำนาจก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยซ้ำกับอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้นั้น เห็นว่า แม้ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ข้อ 2 จะให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจมีอำนาจจับกุมบุคคลซึ่งการสืบสวนเห็นว่าเป็นภัยต่อสังคมให้แก่พนักงานสอบสวนพิจารณา หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคม ก็ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมไว้ เพื่อทำการอบรมได้ก็ตาม แต่การที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นภัยต่อสังคมหรือไม่นั้น ตามคำสั่งฉบับดังกล่าว ข้อ 1 ระบุไว้ว่าได้แก่บุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ต่าง ๆ รวม 9 ข้อ ฉะนั้นการที่พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจรวมทั้งพนักงานสอบสวนจะถือว่าบุคคลใดเป็นภัยต่อสังคมจะต้องมีพฤติการณ์ดังที่ระบุไว้ในคำสั่งฉบับดังกล่าว ซึ่งจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงและมีพยานหลักฐานโดยแน่ชัด สำหรับกรณีเรื่องนี้ผู้ร้องร้องต่อศาลว่านายเริ่มไม่มีพฤติการณ์ เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมแต่ประการใด ถ้าหากความจริงเป็นดังคำร้อง การที่พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจจับกุมตัวนายเริ่ม และผู้คัดค้านในฐานะพนักงานสอบสวนได้ควบคุมไว้ เพื่อทำการอบรม ย่อมเป็นการไม่ชอบตามเจตนารมย์แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 บุคคลผู้ถูกควบคุมหรือขัง สามีภริยาหรือญาติ ฯลฯ ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้พิจารณาสั่งปล่อยตัวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับดังกล่าวหาได้ตัดอำนาจศาลไม่ โดยเฉพาะในคำสั่งก็ไม่มีข้อความระบุว่าให้อำนาจในการจับกุมและควบคุมของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นที่สุด หรือห้ามบุคคลใด ๆ นำกรณีดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาล ดังนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่านายเริ่มมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมจริงหรือไม่อันจะนำข้อเท็จจริงไปสู่ข้อวินิจฉัยว่าการที่ผู้คัดค้านควบคุมตัวนายเริ่ม เป็นการควบคุมโดยชอบหรือผิดกฎหมาย
ปัญหาข้อ 2 ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศษลขอให้สั่งปล่อยตัวนายเริ่มผู้ถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย มิใช่ฟ้องคดีขอให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิด ผู้คัดค้านจึงมิใช่โจทก์ จำเลย คู่ความ หรือผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 บัญญัติว่า เมื่อมีคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวบุคคลใด โดยอ้างว่าบุคคลนั้นต้องถูกควบคุมหรือขัง ฯลฯ โดยผิดกฎหมาย ให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคล ซึ่งก่อให้เกิดการควบคุมหรือขังและผู้ที่ถูกควบคุมหรือขังมาพร้อมกัน คดีนี้ศาลได้หมายเรียกผู้คัดค้านเข้ามาในคดีแล้ว ย่อมถือว่ามีข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน และเป็นคู่ความ เมื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งอย่างไร หากผู้ร้องหรือผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยตามคำสั่ง ก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้
ปัญหาข้อ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้คัดค้านต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานผู้คัดค้านที่สืบไปแล้ว 4 ปาก คงมีแต่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น พนักงานฝ่ายปกครองจะรู้เห็นพฤติการณ์ของนายเริ่ม และมีความเห็นอย่างไร ยังไม่ปรากฏลำพังข้อเท็จจริงจากเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่านายเริ่มมีพฤติการณ์เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมหรือไม่ และจะด่วนวินิจฉัยว่าพยานที่ผู้คัดค้านจะนำเข้าสืบ พยานผู้คัดค้าน 4 ปาก ได้เบิกความถึงไว้หมดแล้วหาได้ไม่ ตามรูปคดีจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความเสียก่อน
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างฎีกาโต้เถียงกันว่านายเริ่มเป็นบุคคล ซึ่งเป็นภัยต่อสังคมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจะต้องฟังจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่สืบกันเสร็จสิ้นเสียก่อน ในชั้นนี้จึงยังวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน