คำวินิจฉัยที่ 2/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๗

วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายดาบตำรวจสมปอง แก้วโกต ที่๑ พลตำรวจตรีทวีพร นามเสถียร ที่ ๒ พันตำรวจเอกสมศักดิ์ แสนชื่น ที่ ๓ พันตำรวจเอกอำรุง จิตรภักดี ที่ ๔ พันตำรวจโทมารุต จันทร์นวล ที่ ๕ นางสาววรรณวดี รื่นสำราญ ที่ ๖พันตำรวจโทสงคราม เสงี่ยมพักตร์ ที่ ๗ พันตำรวจโทธวัช ปิ่นประยงค์ ที่ ๘ พันตำรวจตรีชูเวช หล่อจิตต์ ที่ ๙ ร้อยตำรวจเอกนัทธี นารี ที่ ๑๐ ร้อยตำรวจเอกสุธีหรือพีรวัส อุดมทรัพย์ที่๑๑ ร้อยตำรวจโทนเรศ สนอ่วม ที่ ๑๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๕๕๔/๒๕๔๕ ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และ ที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ รับราชการตำรวจในสังกัดโจทก์ ประจำกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ต่อมา พันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๖ จึงเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งได้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๓๗ ถึงเดือนมีนาคม๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำในสังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ที่ได้รับมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจพบว่ามีรายชื่อข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำที่ลาออก ถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก เสียชีวิต และย้ายไปดำรงตำแหน่งในสังกัดอื่นฯ ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าจ้างมาเบิกจ่ายในบัญชีเงินเดือนข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน จำนวน ๑๐ ราย แต่ไม่รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อแจ้งให้แผนกการเงิน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับจัดทำใบเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้จ่ายในราชการ (แบบ ๓๕๐) ให้มียอดเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำที่ไม่มีสิทธิเบิกเงินดังกล่าวรวมอยู่ด้วยเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงนามในฐานะผู้เบิก กับจัดทำบัญชีจ่ายเงินเดือนโดยระบุชื่อข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนมาเบิกจ่ายในบัญชีเงินเดือนของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ สังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน เสนอผู้กำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ลงนามส่งไปยังแผนกการเงิน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นเหตุให้แผนกการเงินเข้าใจว่าใบเบิกจ่ายและบัญชีเงินเดือนดังกล่าวถูกต้องและอนุมัติเบิกจ่ายเงินไปเท่ากับจำนวนเงินเดือนและเงินที่ต้องหักชำระหนี้ของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำที่ไม่มีสิทธิเบิก โดยโอนเงินเดือนเข้าบัญชีกระแสรายวันของกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวช ต่อมาจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ หรือจำเลยที่ ๑๑ ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คถอนเงินที่หักไว้ชำระหนี้ รวมทั้งเงินเดือนของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำที่ไม่มีสิทธิเบิกออกจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว แล้วจำเลยที่ ๑ เบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปเป็นจำนวน ๑,๗๒๖,๗๗๙ บาท จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ และจำเลยที่ ๗ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและแบบแผนของทางราชการที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าจ้าง จำนวนเงินที่ขอเบิกและบัญชีเงินเดือนเป็นช่องทางให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองชดใช้ค่าเสียหาย โดยให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ทั้งช่วงเวลากระทำละเมิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับและหลังจากวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตามอัตราส่วนเฉพาะตัวที่จะต้องรับผิดในช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่
จำเลยที่ ๕ ให้การว่าคดีขาดอายุความ และโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๙ ให้การว่ามิได้กระทำละเมิดตามฟ้อง นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ ข้าราชการในสังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน หน่วยงานหนึ่งของโจทก์ให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิด โดยโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ ตั้งแต่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ คือระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๙ และตั้งแต่วันที่ ๑๕มีนาคม ๒๕๓๙ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๔๑ หลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ดังนั้นการจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสิบสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด สำหรับการกระทำที่เกิดก่อนวันที่บังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปตามหลักความรับผิดเพื่อละเมิด และค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็คือศาลยุติธรรม และแม้ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการหรือจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทสุภาพันธ์ ได้ละเลยต่อหน้าที่อื่นใดอีก แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำละเมิดในลักษณะเดียวกันตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๗ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งศาลสามารถวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ในคราวเดียวกัน เพียงแต่เมื่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับแล้ว โจทก์ระบุถึงจำนวนค่าเสียหายที่ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ร่วมรับผิดตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งศาลยุติธรรมสามารถพิพากษาในส่วนของความรับผิดในค่าเสียหายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้นได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดในคดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ด้านการเงินและตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนและค่าจ้าง ถูกกล่าวหาว่าได้อาศัยโอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเบียดบังหรือยักยอกเงินของทางราชการไปโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ และพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ อาศัยช่องทางดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตยักยอกเงินของทางราชการไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้การกระทำละเมิดจะได้เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ประกาศใช้บังคับแล้วและได้มีประกาศเปิดทำการศาลปกครองกลางแล้ว ศาลปกครองกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองดังกล่าวได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลางตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๒๗๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงตามฟ้องกล่าวอ้างว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ รับราชการตำรวจสังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการเบิกจ่ายเงินเดือนของข้าราชการตำรวจและค่าจ้างของลูกจ้างประจำ ในสังกัดกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญจึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่เบียดบังยักยอกเงินของทางราชการไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ และที่ ๗ถึงที่ ๑๒ กับพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์ รื่นสำราญ ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและแบบแผนของทางราชการที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าจ้าง จำนวนเงินที่ขอเบิก บัญชีเงินเดือน เป็นช่องทางให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไป คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ หรือไม่ ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ในส่วนของจำเลยที่ ๖ ที่โจทก์ฟ้องในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งได้รับมรดกของพันตำรวจโทหญิงสุภาพันธ์นั้น กรณีนี้ยังถือว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ นายดาบตำรวจสมปอง แก้วโกต ที่ ๑ พลตำรวจตรีทวีพร นามเสถียร ที่ ๒ พันตำรวจเอกสมศักดิ์ แสนชื่น ที่ ๓ พันตำรวจเอกอำรุง จิตรภักดี ที่ ๔ พันตำรวจโทมารุต จันทร์นวล ที่ ๕ นางสาววรรณวดี รื่นสำราญ ที่ ๖ พันตำรวจโทสงคราม เสงี่ยมพักตร์ ที่ ๗ พันตำรวจโทธวัช ปิ่นประยงค์ ที่ ๘ พันตำรวจตรีชูเวช หล่อจิตต์ ที่ ๙ ร้อยตำรวจเอกนัทธี นารี ที่ ๑๐ ร้อยตำรวจเอกสุธีหรือพีรวัส อุดมทรัพย์ ที่ ๑๑ร้อยตำรวจโทนเรศ สนอ่วม ที่ ๑๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share