คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3436/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกกำนันอ้างว่าคณะกรรมการเลือกประจำหน่วยเลือกกำนันไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนันพ.ศ.2524ทำให้คะแนนของผู้ร้องน้อยกว่าคะแนนของผู้คัดค้านผู้ได้รับเลือกเป็นกำนันซึ่งถ้าปฏิบัติโดยถูกต้องแล้วคะแนนของผู้ร้องจะมากกว่าผู้คัดค้านและเป็นผลให้ผู้ร้องได้รับเลือกเป็นกำนันดังนี้ผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่งแล้วเมื่อนายอำเภอซึ่งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกกำนันรายงานผลการนับคะแนนของคณะกรรมการเลือกกำนันว่าผู้ใดได้คะแนนเสียงส่วนมากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเชื่อคะแนนที่คณะกรรมการตรวจนับนายอำเภอและคณะกรรมการเลือกตั้งจึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ตามพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนันไม่ได้ให้สิทธิผู้ร้องที่จะร้องคัดค้านการเลือกกำนันต่อศาลได้ผู้ร้องจะขอให้มีการเลือกกำนันใหม่หรือให้นับคะแนนการเลือกกำนันใหม่ก็ต้องฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้ร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาลผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ได้.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างสมัครรับเลือกเป็นกำนันตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แต่การนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ชอบทำให้ผู้คัดค้านได้รับเลือกเป็นกำนัน ถ้าหากมีการตรวจและเลือกกำนันเป็นไปโดยชอบแล้วผู้ร้องย่อมได้คะแนนมากกว่าผู้คัดค้านและได้เป็นกำนัน ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้มีการเลือกกำนันใหม่หรือมิฉะนั้นให้มีการตรวจและวินิจฉัยบัตรใหม่และตรวจนับคะแนนใหม่ว่าผู้ใดจะได้รับเลือกเป็นกำนัน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การเลือกกำนันไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือกำหนดให้สิทธิแก่ผู้สมัคร หรือบุคคลใดที่จะร้องคัดค้านการเลือกกำนันใหม่ หรือให้มีการตรวจและวินิจฉัยใหม่ว่าบัตรใดเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย แล้วมีการตรวจนับคะแนนใหม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจกระทำได้ ทั้งการเลือกกำนันและการนับคะแนนก็กระทำโดยชอบแล้วขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกกำนันต่อศาลหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 30 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 364 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 3 ให้นายอำเภอเป็นผู้จัดให้มีการเลือกกำนัน เมื่อราษฎรที่มาลงคะแนนเสียงส่วนมากเลือกผู้ใดแล้วให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกำนัน และให้นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน ส่วนวิธีเลือกกำนันให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนัน พ.ศ. 2524 ซึ่งข้อ 7 กำหนดให้นายอำเภอหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง และให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกประจำทุกหน่วยเลือกกำนัน เพื่อดำเนินการเลือก และให้เชิญกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านตำบลอื่นในเขตอำเภอนั้นอย่างน้อย 2 คนเป็นพยานรู้เห็นในการลงคะแนนและตรวจนับคะแนนไม่ได้กำหนดให้การเลือกกำนันเป็นอำนาจสิทธิขาดของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเห็นว่า คณะกรรมการเลือกประจำหน่วยเลือกกำนันไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้คะแนนของผู้ร้องน้อยกว่าคะแนนของผู้คัดค้าน ซึ่งถ้าปฎิบัติโดยถูกต้องแล้วคะแนนของผู้ร้องจะมากกว่าของผู้คัดค้าน และเป็นผลให้ผู้ร้องได้เป็นกำนัน ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกกำนันด้วยผู้หนึ่งจึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่ง และที่นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญไว้ให้เป็นหลักฐานนายอำเภอก็ต้องรายงานไปตามผลการนับคะแนนของคณะกรรมการเลือกกำนันว่าผู้ใดได้คะแนนเสียงส่วนมากแสดงว่านายอำเภอเชื่อคะแนนที่คณะกรรมการตรวจนับที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว คณะกรรมการเลือกกำนันและนายอำเภอซึ่งเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งจึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมายแพ่งแต่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่และระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิผู้ร้องที่จะร้องคัดค้านการเลือกกำนันต่อศาลได้ ผู้ร้องจะขอให้มีการเลือกกำนันใหม่หรือให้นับคะแนนการเลือกกำนันใหม่หรือให้นับคะแนนการเลือกกำนันใหม่ก็ต้องฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิของผู้ร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาล ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”.

Share