คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3435/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งแก่โจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ด้วย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีนี้มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
หนังสือที่ระบุว่าเป็นสัญญาค้ำประกันมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อโจทก์อยู่ด้วย จึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่สัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะ 17 จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีตามคดีหมายเลขดำที่ 1175/2541 เมื่อสืบพยานเสร็จแต่ก่อนพิพากษาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ศาลแพ่งธนบุรีจึงได้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานตามคดีหมายเลขแดงที่ 501/2543 เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายและเก็บเงิน มีหน้าที่เป็นตัวแทนโจทก์ในการขายสินค้าเงินสดประเภทยารักษาโรค ให้ชำระเงินล่าช้าได้ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันส่งสินค้า และต้องนำเงินส่งที่ทำการของโจทก์กับมีข้อตกลงว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 รับสินค้าไปจากโจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินตามราคาสินค้าไม่ครบถ้วนหรือจำเลยที่ 1 ทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้แก่โจทก์จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประพฤติเสื่อมเสียหรือทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 633,085.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดซึ่งโจทก์ขอคิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 197,839 บาท

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 สมัครเข้าทำงานกับโจทก์ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย จ.3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายและเก็บเงิน ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2539โจทก์ได้ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างโดยเก็บเงินจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งแก่โจทก์เป็นเงิน 532,077 บาท จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 60,000 บาท คงเหลืออีก 472,077 บาทนอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ยังตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าอีก 14 ราย เป็นเงินรวม 101,008.50 บาท แล้วไม่นำส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 633,085.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันจริงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2(6) ที่ว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่าไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่เพราะเป็นหนี้เดิมนั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจเห็นพ้องด้วย เพราะความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันกับความรับผิดตามหนังสือรับสารภาพหนี้มีผลแตกต่างกันโดยเฉพาะเรื่องอายุความ กล่าวคือ อายุความฟ้องร้องในความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันมีอายุความเพียง 2 ปี แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปี แล้ว ส่วนสัญญาค้ำประกันตามหนังสือรับสภาพหนี้มีอายุความ 10 ปี ดังนั้น ความรับผิดในเรื่องอายุความจึงมีผลแตกต่างกัน เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัยอีกเช่นเดียวกัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2(4) ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งแก่โจทก์นั้นนอกจากจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีนี้มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีอายุความเพียง2 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปีจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ศาลรับฟังสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ที่ไม่ได้ปิดแสตมป์เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่เห็นว่า แม้เอกสารหมาย จ.4 จะระบุว่าเป็นสัญญาค้ำประกันก็ตาม แต่มีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อโจทก์อยู่ด้วย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่สัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะ17จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าเอกสารหมาย จ.4 ไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐานนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์จำเลยที่ 2ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนสิ้น ไม่ได้ระบุว่าให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 633,085.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

Share