แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราที่โจทก์สามารถคิดได้แต่เฉพาะกับลูกหนี้ซึ่งผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขของสัญญากู้มิใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นกำหนดไว้ไม่เกินอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี แต่ขณะทำสัญญาโจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ คดีโจทก์มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งเมื่อโจทก์นำสืบยืนยันว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี การที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยเพียงในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องและนำสืบซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังมาเป็นการต้องห้าม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยนำห้องชุดจดทะเบียนจำนองเป็นประกันต่อโจทก์ จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ตรงตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 187,565.94 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 111,632.31 บาทพร้อมดอกเบี้ยและให้ชำระเงิน 936 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดห้องชุดที่จดจำนองไว้พร้อมส่วนควบและสิ่งตรึงตราขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน 103,317.68 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์คงฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2535จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ3,660 บาท ผ่อนชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 จำเลยได้นำห้องชุดเลขที่ 105/94 อาคารชุดมหาทรัพย์คอนโดทาวน์จดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์และจำเลยตกลงเอาประกันภัยทรัพย์จำนองให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยหากไม่ชำระให้โจทก์ชำระแทนไปก่อนและจำเลยจะชำระคืนแก่โจทก์หากไม่ชำระให้โจทก์นำค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระแทนทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยได้ โจทก์ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยรวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 936 บาท และโจทก์ได้นำมาทบกับต้นเงินกู้ที่ค้างชำระ และคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกับสัญญากู้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 จำเลยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญากู้ที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โดยให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด และโจทก์ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และโจทก์นำสืบตามที่ฟ้องซึ่งตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ระบุเงินกู้จำนวน 200,000 บาทและกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตรงกัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้นั้นเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี ที่โจทก์ฎีกาว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดได้ตามเอกสารหมาย จ.14 โจทก์จึงประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดได้ตามเอกสารหมาย จ.15 ก็ตาม แต่ตามประกาศเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา มิใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่กำหนดไว้เพียงอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามประกาศข้อ 3 ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยในสัญญากู้อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลูกค้าผิดนัด มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ส่วนเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 936 บาท ที่โจทก์นำมาทบรวมเข้ากับต้นเงินกู้ที่ค้างชำระก็กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกับที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญากู้ด้วย ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 เท่ากับอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี โจทก์มิได้ฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวเป็นกรณีจำเลยผิดนัด ดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ฟ้องระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ18.5 ต่อปี ในสัญญากู้แต่ทางปฏิบัติโจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามทะเบียนเงินกู้เอกสารหมาย จ.7นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่ขัดกับที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และโจทก์มิได้นำสืบถึงรายละเอียดการคิดคำนวณดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.7 ว่าคิดดอกเบี้ยในอัตราเช่นนั้นจริงเพียงใด แต่โจทก์นำสืบยืนยันว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงจากที่โจทก์ฟ้องและนำสืบที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน