คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 และมาตรา 22วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใด อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมดเท่านั้น ดังนี้ นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะ ลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และการแจ้งการปิดงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 วรรคท้าย ก็มิได้กำหนดให้แจ้งแก่ลูกจ้างเป็นรายบุคคล ดังนั้น เมื่อนายจ้างได้แจ้งการปิดงานเป็นหนังสือให้สหภาพแรงงานทราบแล้ว การปิดงานและการแจ้งการปิดงานจึงชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเลิกปิดงานและรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานกับให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่ปิดงานไปจนกว่าจำเลยเลิกปิดงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงานแก่โจทก์ทุกคน พร้อมทั้งจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างค้างชำระทุกระยะ 7 วัน กับดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
จำเลยให้การว่า จำเลยปิดงานและงดจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยเลิกปิดงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและจำเลยต่างยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงการจ้างต่อกัน เจรจากันแล้วตกลงกันไม่ได้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้าไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงใช้สิทธิปิดงานบางส่วนซึ่งโจทก์อ้างว่าการปิดงานบางส่วนของจำเลยไม่ถูกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อคดีของโจทก์เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์โดยอ้างว่า จำเลยปิดงานบางส่วนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ทำงานตามปกติและไม่ได้รับค่าจ้างย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่าข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสหภาพการจ้างซึ่งสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอและจำเลยต่างยื่นต่อกัน ผ่านขั้นตอนการเจรจาและไกล่เกลี่ยตามกฎหมายจนเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงแล้วว่า จะปิดงานบางส่วนตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2530 เวลา 07.00นาฬิกาเป็นต้นไป ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2530 จำเลยปิดงานเฉพาะฝ่ายผลิตไม่ยอมให้โจทก์และลูกจ้างในฝ่ายผลิตเข้าทำงาน การปิดงานของจำเลยจึงเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างในฝ่ายผลิตทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน หนังสือขอปิดงานบางส่วนเป็นการแสดงเจตนาขอปิดงานของจำเลยแล้ว แม้ตามหนังสือดังกล่าวไม่ระบุชัดแจ้งว่าจะปิดงานต่อลูกจ้างผู้ใดบ้างก็ไม่ทำให้สิทธิของจำเลยเสียไปการปิดงานของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะสั่งให้จำเลยเปิดงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จำเลยชำระค่าจ้างระหว่างปิดงานกับชำระเงินเพิ่มตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 22 วรรคสาม ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะปิดงานหรือลูกจ้างที่จะนัดหยุดงานในกรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นและเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ได้ และการปิดงานนั้นตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายไว้ว่า คือ การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ไม่มีข้อความตอนใดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่กล่าวอ้างอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมดเท่านั้นฉะนั้น กรณีของโจทก์จำเลยนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ การที่จำเลยปิดงานเฉพาะฝ่ายผลิตไม่ยอมให้โจทก์กับลูกจ้างในฝ่ายผลิตเข้าทำงานจึงสามารถทำได้ และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34วรรคท้าย ได้บัญญัติถึงการปิดงานว่า นายจ้างต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง กฎหมายมิได้กำหนดให้แจ้งแก่ลูกจ้างเป็นรายบุคคลเพราะใช้คำว่าฝ่าย เมื่อใดความว่า จำเลยได้แจ้งการปิดงานบางส่วนเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.16 ให้สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอทราบแล้ว การปิดงานและการแจ้งการปิดงานของจำเลยจึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share