แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ศาลแรงงานกลางสั่งว่า รับอุทธรณ์ โจทก์เฉพาะข้อ 2 ก. และข้อ 3 ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2 ข. เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงไม่รับ โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2 ข. ที่ว่า การที่โจทก์หยุดงานในวันที่ 1-4 กันยายน 2536 โดยไม่ได้ยื่นใบลา เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ได้ลางานด้วยวาจาตามที่มีการปฏิบัติกันจริง จึงเป็นการหยุดงานที่ชอบนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 76,77) โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลย จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำนวน 1,679,048 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2 ข. ดังกล่าว (อันดับ 69) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 74)
คำสั่ง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า มีระเบียบการลาว่าต้องเขียนใบลา และขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน และ ต้องได้รับอนุมัติจึงจะมีสิทธิหยุดงานได้ เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉิน จำเป็นซึ่งผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้ว เห็นสมควรอนุมัติ เป็นกรณีพิเศษ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นใบลาตามระเบียบ การที่โจทก์ ไม่มาทำงานระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2536 เป็นการ ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ ลาด้วยวาจาตามระเบียบแล้ว เท่ากับโจทก์โต้แย้งว่าไม่ได้ ทำผิดระเบียบการลา จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ให้ยกคำร้อง