คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าจ้างโดยบรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญารับจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงติดตั้งต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ระบุเงื่อนไขในการทำงานและได้รับค่าจ้างตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะว่าจ้างช่วงหรือให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประสานงานให้จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ กับตรวจรับมอบงานแทนจำเลยที่ 1 และเบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 มามอบให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เห็นได้ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 246,774.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 246,774.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสนามบินสุวรรณภูมิจากบริษัทร่วมค้า ไอ ที โอ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลัก จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมาทำงานก่อสร้างโครงเหล็กอาคารในสนามบินสุวรรณภูมิเฉพาะค่าแรงและอุปกรณ์สิ้นเปลือง โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ออกแผ่นเหล็กและสี ตามสัญญาจ้างทำงานลงวันที่ 29 มกราคม 2547 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2547 ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทำสัญญารับจ้างทำงานติดตั้งโครงโลหะหลังคาอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 โดยนายธนวัฒน์ หุ้นส่วน เป็นผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวัสดุ เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเพื่อใช้ในการก่อสร้างและอำนวยความสะดวกในการทำงานที่จำเป็น ส่วนโจทก์เป็นผู้จัดหาบุคลากรช่าง คนงานที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีจำนวนที่เพียงพอกับปริมาณงานที่ต้องทำ โจทก์ได้รับเงินค่าผลงานที่ทำเสร็จแต่ละงวดมาโดยตลอด แต่โจทก์ไม่สามารถเบิกเงินค่าผลงานงวดสุดท้าย จำนวน 246,774.11 บาท
มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีมีประเด็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าจ้างโดยบรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญารับจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงติดตั้งต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ระบุเงื่อนไขในการทำงานและได้รับค่าจ้าง จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะว่าจ้างช่วงหรือให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประสานงานให้จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ และตรวจรับมอบงานแทนจำเลยที่ 1 และเบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 2 แม้มิได้ใช้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วเห็นได้ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหานี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share