คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยมีความข้อ 6ระบุว่าเมื่อลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้อง จำเลยผู้ค้ำประกันยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่จำเลยมีอยู่กับผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ได้ ข้อ 7 ระบุให้จำเลยถอนเงินคืนไปได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ผู้ร้องลดลงเหลือไม่เกินราคาหลักทรัพย์ที่ผู้ร้องประเมินเป็นหลักประกัน และข้อ 8 ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยฝากไว้นั้นเป็นประกันตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วน และจำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องรวมตลอดถึงลูกหนี้ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันได้ทันทีนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้ว เพราะจำเลยยังคงมีสิทธิถอนเงินคืนไปได้เมื่อมีกรณีตามสัญญาข้อ 7 และการที่ผู้ร้องจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้องตามสัญญาข้อ 6 หรือจำเลยหรือลูกหนี้ผู้กู้ก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องตามสัญญาข้อ 8 เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของตนได้
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลแพ่งได้พิพากษาให้ลูกหนี้ผู้กู้ซึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้รวม 3 รายกับจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้แก่ผู้ร้องแล้วและการขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ผู้กู้และจำเลยแล้วนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ศาลชั้นต้นพิพากให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 514,215 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดีโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารผู้ร้องจำนวน 3 บัญชี และส่งเงินที่อายัดให้กรมบังคับคดี ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าผู้ร้องไม่สามารถส่งเงินตามอายัดให้ได้ในทันทีเพราะเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำ 2 บัญชีของจำเลยที่ 1 ยังคงมีการผูกพันการค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้ร้อง แต่เมื่อมีเงินส่วนที่พ้นภาระผูกพันตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจะได้ส่งเงินที่พ้นภาระผูกพันนั้นให้กรมบังคับคดีตามที่ขออายัดต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรรมการผู้จัดการะนาคารผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1มาไต่สวน ศาลชั้นต้นไต่สวน
ธนาคารผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1บัญชีหนึ่งซึ่งเป็นบัญชีกระแสรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินไปเกินวงเงินแล้ว จึงไม่มีเงินเหลือในบัญชี สำหรับอีก 2 บัญชีซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำ จำเลยที่ 1 ยังมีภาระผูกพันกับผู้ร้องที่จะต้องชำระหนี้ให้ผู้ร้องสำหรับจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ผู้กู้เงินผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารโครงการหมู่บ้านเทพทิพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค้างชำระอยู่กับผู้ร้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่สามารถส่งเงินตามที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้
ในวันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นสอบผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องแล้วแถลงข้อความทำนองเดียวกับคำคัดค้าน ส่วนโจทก์แถลงว่าสุดแต่ศาลจะพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าเมื่อผู้ร้องแถลงข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างชัดแล้ว จึงให้งดไต่สวน (พออนุโลมว่าเป็นการสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีการผิดสัญญาค้ำประกัน เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่1 ยังมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาล สัญญาค้ำประกันจึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้พิพากษากลับให้ผู้ร้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งสองบัญชีมายังกรมบังคับคดี
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1ยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินฝากทั้งสองบัญชีตามสัญญาค้ำประกันถือได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินจำนวนดังกล่าวนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยนั้น ข้อ 6 ระบุว่าจำเลยผู้ค้ำประกันยินยิมให้ผู้ร้องหักเงินชำระหนี้ได้เมื่อลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้อง ข้อ 7 ระบุให้จำเลยผู้ค้ำประกันถอนเงินคืนไปได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ผู้ร้องลดลงเหลือไม่เกินราคาหลักทรัพย์ที่ผู้ร้องประเมินเป็นหลักประกัน และข้อ 8 ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยผู้ค้ำประกันฝากไว้นั้นเป็นหลักประกันตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วนและจำเลยตกลงยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องรวมตลอดถึงลูกหนี้ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันได้ทันที เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวนั้น เงินที่จำเลยฝากผู้ร้องไว้ยังคงเป็นของจำเลยอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าจำเลยมีสิทธิถอนเงินคืนไปได้เมื่อมีกรณีตามสัญญาข้อ 7 และการที่ผู้ร้องจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผู้กู้เงินผิดสัญญากับผู้ร้องตามสัญญาข้อ 6 หรือจำเลยหรือลูกหนี้ผู้กู้ก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องตามสัญญาข้อ 8เท่านั้น มิใช่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ลูกหนี้ผู้กู้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันนั้นได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หลายราย ซึ่งผู้ร้องได้ฟ้องเรียกเงินกู้และบังคับจำนองกับลูกหนี้ดังกล่าว รวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งพิพากษาให้ร่วมกันชำระหนี้แก่ผู้ร้องแล้วรวม 3 ราย และการขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้และจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกานั้น มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ที่แก้ไขแล้วศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share