แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อตกลงในการชำระดอกเบี้ยไว้ว่าผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 16.25 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี เห็นได้ว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างธนาคารโจทก์และจำเลย ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16.25 ต่อปีอยู่แล้ว การที่สัญญาข้อต่อมากำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณี ที่จำเลยผิดนัดไว้ว่า ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนั้น ก็คือการที่จำเลยสัญญาให้เบี้ยปรับในฐานผิดสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 2.25 ต่อปีนั่นเอง ซึ่งเบี้ยปรับ นี้ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็น จำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า ผู้กู้ยินยอมให้ ผู้ให้กู้มีสิทธิใช้ดุลพินิจนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ทดรองจ่าย ไปแทนผู้กู้ไปลงจ่ายในบัญชีเดินสะพัดที่ผู้กู้มีอยู่กับผู้ให้กู้เพื่อให้ผู้กู้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อผู้ให้กู้ต่อไป และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์จึงมี สิทธิคิดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราดังกล่าว แม้จำเลยผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีได้จดทะเบียนจำนองทรัพย์จำนอง ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนเปิดบัญชีเดินสะพัดและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่า หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อ เหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้ และมาตรา 707 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ดังนั้น สัญญาจำนองซึ่ง เป็นหนี้อุทธรณ์จึงสามารถประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ ในอนาคตได้ สัญญาจำนองย่อมไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน800,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 194462 ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลย ตกลงยินยอมให้โจทก์จัดการเอาประกันภัยทรัพย์จำนองได้ ภายหลังจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์หลายครั้ง และไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่จำเลยก็เพิกเฉย สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดในวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน 919,923.37 บาท หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากต้นเงินดังกล่าวจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 เป็นดอกเบี้ย 47,457.96 บาท รวมทั้งจำเลยต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยซึ่งโจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 916 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 968,297.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19.50 ต่อปีจากต้นเงิน 919,923.37 บาท และค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 916 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 194462 ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว รวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน873,457.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ให้ชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี จากต้นเงินและดอกเบี้ยที่คำนวณได้ดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 916 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 194462 ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวนเงิน 800,000 บาท โดยมอบอำนาจให้โจทก์จัดการเอาประกันภัยทรัพย์จำนองได้ปรากฎตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันสัญญาต่อท้ายจำนองที่ดินเป็นประกันคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนังสือมอบอำนาจให้ธนาคารจัดการประกันภัย เอกสารหมายจ.6 จ.7 จ.4 จ.5 และ จ.8
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2540และคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2540เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหรือไม่เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงในการชำระดอกเบี้ยไว้ในสัญญาข้อ 2 ระบุว่า ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 16.25 ต่อปี และสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปีจากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 นี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16.25 ต่อปีอยู่แล้ว การที่ข้อต่อมากำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยผิดนัดไว้ว่า ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนั้น ก็คือการที่จำเลยสัญญาให้เบี้ยปรับในฐานผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 2.25 ต่อปี นั่นเองซึ่งเบี้ยปรับนี้ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร จึงเห็นสมควรลดดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระเพิ่มในกรณีผิดนัดจากอัตราร้อยละ 2.25 ต่อปี เป็นให้ชำระดอกเบี้ยเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี รวมเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชำระร้อยละ 16.5 ต่อปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัย 916 บาท ในอัตราเท่าใด เห็นว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 6 ระบุว่าผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้มีสิทธิใช้ดุลพินิจนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ทดรองจ่ายไปแทนผู้กู้ไปลงจ่ายในบัญชีเดินสะพัดที่ผู้กู้มีอยู่กับผู้ให้กู้เพื่อให้ผู้กู้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อผู้ให้กู้ต่อไป และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า สัญญาจำนองมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยจดทะเบียนจำนองทรัพย์จำนองให้ไว้แก่โจทก์ก่อนเปิดบัญชีเดินสะพัดและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก็ตามแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้ และมาตรา 707 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจำนองจะเป็นหนี้อุปกรณ์แต่ก็สามารถค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งเป็นหนี้ในอนาคตได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาจำนองไม่มีผลผูกพันจำเลยตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่แรกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน873,457.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ให้ชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีจากต้นเงินและดอกเบี้ยที่คำนวณได้ดังกล่าวข้างต้นนับแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 916 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 194462 เลขที่ดิน 3646 ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ