คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3428/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามความใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) หมายถึงวันที่เริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา มิใช่ทุก ๆ วันในระยะเวลาสี่ปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว ฯลฯ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตารางวาละ 129,000 บาท เป็นเงิน 19,608,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2536ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,203,087 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าทดแทนเบื้องต้นเหมาะสมกับสภาพและทำเลที่ตั้งและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่ไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์อีก 1,368,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ6.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ตามที่บัญญัติในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หมายถึง ทุก ๆ วันที่อยู่ในระหว่างพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับอยู่เป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าราคาซื้อขายและราคาจำนองในปี 2535ถึง 2536 เป็นการซื้อขายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ซึ่งให้ใช้บังคับได้มีกำหนดสี่ปี แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในปัญหานี้นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อนและเห็นว่า วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 21(1) ดังกล่าว หมายถึงวันที่เริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวประสงค์จะให้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันที่เริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 วันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาหากจะหมายถึงทุก ๆ วันในระยะเวลาสี่ปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับอยู่ดังที่โจทก์ฎีกา ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในระยะเวลาสี่ปีย่อมมีสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าวันแรกที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนก็ประสงค์จะได้ราคาสูงสุดของอสังหาริมทรัพย์ จำเลยทั้งสองซึ่งจะต้องรับผิดจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ก็ไม่ต้องการจ่ายเงินค่าทดแทนที่สูงเกินไป ซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่าจะใช้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในวันใดมาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งย่อมจะมีข้อโต้เถียงกันไม่เป็นที่สิ้นสุด ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงมีบทบัญญัติป้องกันมิให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนต้องเสียหายมากเกินไปโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้สั่งจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง หากจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามมาตรา 11 วรรคหนึ่งหรือจ่ายเงินค่าทดแทนล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามมาตรา 28 วรรคหนึ่งก็ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือเงินค่าทดแทน นอกจากนี้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งย่อมเป็นที่เข้าใจว่าวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาหมายถึงวันที่เริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกานั้นเอง บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่กล่าวมานี้จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 21(1) หมายถึงวันเริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในการคำนวณดอกเบี้ยนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คือวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ จึงไม่ถูกต้องแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share