แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าทำสัญญาค้ำประกันบริษัท ส. ผู้กู้เงินจากโจทก์ โดยไม่ได้ฟ้องบริษัท ส. ด้วย แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงไม่มีปัญหาดังกล่าวในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 ทั้งจำเลยทั้งสองได้นำพยานเข้าสืบอันแสดงการยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะโต้แย้งแล้ว อันถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาในชั้นนี้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะวินิจฉัยให้อีกต่อไป จึงไม่รับวินิจฉัยให้
การที่คู่กรณีมีข้อสัญญากันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิให้คู่กรณีนำคดีฟ้องต่อศาลเสียทีเดียวเพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้น ที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้น ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว หากคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าฝ่ายนั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ชอบที่ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ได้ความว่ามีเหตุดังกล่าวศาลจึงจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไป ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 10
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ส. มีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์และบริษัท ส. ที่บริษัท ส. มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นให้การโต้แย้งทั้งมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 มิใช่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัว แต่หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาค้ำประกันก็ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4) จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ นั้น เป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินไทยก็ได้ โดยถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตามสถานที่และวันที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง นั้นเอง มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และได้รับอนุญาตให้ตั้งสำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพ โดยมีนายฟรองซัว แวน เดน บอช เป็นผู้รับมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 28กรกฎาคม 2538 ธนาคารโจทก์ สำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพ ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ย กำหนดเวลาชำระหนี้และการผิดนัด ผู้กู้ได้รับมอบเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วในวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ในการกู้ยืมเงินมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดผู้กู้ชำระหนี้เพียงบางส่วนแล้วผิดนัด คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยจำนวน 30,410.50 ดอลลาร์สหรัฐจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,570,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ลูกหนี้ของโจทก์ไม่เคยผิดนัด โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วคงเหลือจำนวนไม่เกิน 20,000,000 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี เท่านั้น ไม่ใช่อัตราตามคำฟ้อง ผู้กู้มีตัวตนและมิได้ล้มละลาย ทั้งมีทรัพย์สินจำนวนมากพอชำระหนี้ได้ โจทก์ควรเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้คืนโจทก์โดยตรงซึ่งไม่เป็นการยาก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์เลย จำเลยที่ 2 เพียงลงลายมือชื่อเป็นพยานในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ10.0847 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่เฉพาะ (1) ดอกเบี้ยคำนวณตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2541ต้องไม่เกินจำนวน 10,785.83 ดอลลาร์สหรัฐ (2) ดอกเบี้ยคำนวณตั้งแต่วันที่ 22สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ต้องไม่เกินจำนวน 32,355.08 ดอลลาร์-สหรัฐ (3) ดอกเบี้ยทั้งสองรายการตาม (1) และ (2) รวมกันต้องไม่เกินจำนวน43,140.91 ดอลลาร์สหรัฐ และ (4) เมื่อนำเงินจำนวน 12,730.41 ดอลลาร์สหรัฐไปหักออกจากผลรวมของ (1) และ (2) ตามรายการ (3) แล้วต้องไม่เกินจำนวน30,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริงถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าวในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจในประเทศไทย โดยตั้งเป็นสำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพมีนายฟรองซัว แวน เดน บอช เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 โจทก์ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐตามหนังสือให้สินเชื่อ (Letter of offer) ทั้งนี้มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าทำสัญญาค้ำประกันบริษัทสยามอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและให้ความยินยอม จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
สำหรับปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการแรกว่าตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยืมเงินจากโจทก์และเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดต่อโจทก์ โดยไม่ได้ฟ้องบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากค้ำประกันการกู้ยืมเงินกันธรรมดาเท่านั้นที่ทำกันในประเทศไทย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7 นั้นเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องจะได้ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้เข้าทำสัญญาค้ำประกันบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้กู้เงินจากโจทก์เท่านั้นโดยไม่ได้ฟ้องบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำฟ้อง จนกระทั่งยื่นคำให้การแล้ว จำเลยทั้งสองก็มิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีจึงไม่มีปัญหาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า คดีเรื่องนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งหมายถึงศาลชั้นต้นในระดับเดียวกัน อันเป็นเหตุที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 หรือไม่ ทั้งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยานโจทก์และนำพยานจำเลยทั้งสองเข้าสืบอีกด้วยอันแสดงว่า จำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาที่จะโต้แย้งในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว อันถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาดังกล่าวในชั้นนี้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะวินิจฉัยให้อีกต่อไป จึงไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่ 2 ว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่นจำกัด หน้า 6 ในข้อ “กฎหมายและศาลที่ให้บังคับ” กำหนดว่า “หนังสือสัญญาการให้ใช้วงเงินสินเชื่อฉบับนี้ เอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎหมายของประเทศไทย ข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากหนังสือให้สินเชื่อนี้ให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าวในประเทศไทยตามกฎข้อบังคับด้วยวิธีการระงับข้อพิพาท โดยการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศ โดยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการจำนวน 3 ท่านขึ้นตามกฎข้อบังคับเช่นว่านั้น”อันเป็นการกำหนดให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่นจำกัด โดยการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาวินิจฉัยเท่านั้น จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่บัญญัติว่า”นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่า ผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย” โจทก์จึงต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเช่นกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลได้นั้น เห็นว่า การที่คู่กรณีมีข้อสัญญากันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิให้คู่กรณีนำคดีฟ้องต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นก็เป็นได้ ที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้น ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว หากคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าฝ่ายนั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ชอบที่ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ได้ความว่ามีเหตุทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้แล้ว ศาลจึงจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไป ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 10 เกี่ยวกับคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันอาจจะมีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์และบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่นจำกัด มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ดังเช่นจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ให้การโต้แย้งถึงอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดก่อนแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เท่านั้น มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ทั้งเงินตามสัญญาบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็นำไปใช้ในกิจการของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำเลยที่ 1 มิได้นำไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่นจำกัด ต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 มิใช่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์ในการที่บริษัทสยามอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ดังกล่าวนั้น แม้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับเงินไปใช้ในกิจการของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาค้ำประกันก็ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4) จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมกัน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น….
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ตามคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 1,570,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว ยังพิพากษาต่อไปอีกว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริงถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์(อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศดังกล่าวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศท่านว่าจะใช้เป็นเงินไทยก็ได้” อันเป็นการให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ที่จะเลือกชำระเงินให้โจทก์ด้วยเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์ขอหรือจะชำระด้วยเงินไทยก็ได้ตามแต่จำเลยทั้งสองจะสมัครใจหากจำเลยทั้งสองเลือกจะชำระเป็นเงินไทย จำเลยทั้งสองก็ต้องชำระเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196วรรคสองที่บัญญัติว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” เมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ที่ว่า “ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ”ก็เป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินไทยก็ได้ โดยถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตามสถานที่และวันที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง นั้นเอง มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน