แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การร้องขอฝากขังเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนยื่นขอต่อศาลโดยอ้างเหตุเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาเพื่อขอให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ทำการสอบสวน ดังนั้น แม้ตามคำร้องขอฝากขังจะมิได้ระบุข้อหาความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน แต่เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดได้เป็นเฮโรอีนพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเต็มต่อจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายโดยผิดกฎหมายจึงฟังได้ว่ามีการแจ้งขอหาและสอบสวนในความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีนแล้วโดยชอบโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีนได้ และเมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานเพราะความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่าจำคุก 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 176
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 15, 66, 67, 69, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12, 18, 81 ริบเฮโรอีนและโคคาอีนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (3) (ที่ถูก วรรคสาม (2) และอ้างมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ด้วย), 66 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคหนึ่งด้วย), 69 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18, 81 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานร่วมกันมีโคเคอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 19 ปี และปรับ 460,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 19 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 460,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 9 ปี 6 เดือน และปรับ 230,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 9 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 230,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่รวมโทษทุกกระทงความผิดก่อนลดโทษให้ แล้วลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 19 ปี และปรับ 460,000 บาท และลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำคุกคนละ 19 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 460,000 บาท นั้น เป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมเข้าด้วยกันแล้ว แต่หลงลืมมิได้ระบุให้ปรากฏฐานความผิดเป็นลายลักษณ์อักษรจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 12 ปี ปรับคนละ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีโคเคอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 3 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคเคน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เห็นว่า การร้องขอฝากขังเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนยื่นขอต่อศาลโดยอ้างเหตุเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาเพื่อขอให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ทำการสอบสวน ดังนั้น แม้ตามคำร้องขอฝากขังจะมิได้ระบุข้อหาความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งเรียกมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยว่า เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดได้เป็นเฮโรอีน พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย กรณีจึงฟังได้ว่ามีการแจ้งข้อหาและสอบสวนในความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีนแล้วโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีนและเมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานเพราะความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่าจำคุก 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และสำหรับที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนเป็นจำนวนน้ำหนักเท่าใด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้กี่กรัม จึงถือว่าวัตถุของกลางมิใช่เฮโรอีน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนจำนวน 1 ห่อ น้ำหนักไม่ปรากฏชัด เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าวัตถุของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายมิใช่เฮโรอีนหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน