แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ 2 ฉบับ โดยใช้กระดาษก๊อปปี้คั่นกลางต้นฉบับอยู่ที่จำเลย ฉบับสำเนาอยู่ที่โจทก์ เมื่อโจทก์นำสืบว่าต้นฉบับสัญญากู้นำมาไม่ได้ จึงรับฟังสัญญาฉบับสำเนาซึ่งอยู่ที่โจทก์ได้ เท่ากับโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ตามกฎหมายแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินและรับเงินจากโจทก์จำนวน 30,000 บาทคิดดอกเบี้ยอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน นับแต่วันทำสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ ตั้งแต่กู้เงินไปจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย ขอให้จำเลยชำระเงินต้น 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันกู้ถึงวันฟ้อง 3,000 บาท รวม33,000 บาท จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งยังไม่กรอกข้อความ โดยอ้างว่าจะไม่ใช่เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน แต่จะเอาไปแสดงต่อญาติจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่ถูกต้องและเกรงว่าจะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงิน จำเลยจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาดังกล่าวโจทก์จึงปลอมลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้เงินแล้วนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินต้น 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้จนถึงวันฟ้อง(แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 3,000 บาท)
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และได้ทำสัญญาไว้จริงตามฟ้อง สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่เอกสารปลอม ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นฉบับสำเนาใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์นำสืบแล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญา 2 ฉบับ สัญญาทำไว้โดยใช้กระดาษก๊อบปี้คั่นกลางต้นฉบับอยู่ที่จำเลย ส่วนฉบับสำเนาตามเอกสารหมาย จ.3 อยู่ที่โจทก์ ซึ่งกรณีเป็นไปได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้จึงรับฟังสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นฉบับสำเนาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)เท่ากับโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ตามกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.