คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่จำเลยเกิดเรื่องกับผู้เสียหายในเวลาประชุม ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้น จำเลยออกจากที่ประชุมแล้วการประชุมยังมีต่อไป จนภายหลังเลิกการประชุม และผู้คนมาประชุมกลับไปเกือบหมดแล้ว จำเลยจึงมาทำร้ายผู้เสียหาย ซึ่งการทำขั้นนี้มิได้เกิดจากโทสะพลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้าย แต่เป็นกรณีเกิดโทสะแล้วไปเกิดความคิดที่จะทำร้ายเขาในภายหลัง และเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยจะต้องคิดไตร่ตรองตัดสินใจอย่างหนักในการตกลงใจกระทำผิด ในกรณีนี้การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงนายปรีชา ลีลาโคตร์ โดยเจตนาฆ่าให้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่มีผู้อื่นมาขัดขวาง จำเลยจึงฆ่านายปรีชาไม่ได้ เพียงแต่ทำร้ายนายปรีชาบาดเจ็บสาหัสประกอบด้วยทุกขเวทนากล้า ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเกินกว่า ๒๐ วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙,๘๐,๒๙๗ และริบมีดของกลาง
จำเลยให้การว่า ได้ทำร้ายนายปรีชาจริง แต่ไม่มีเจตนาฆ่าหรือไตร่ตรองไว้ก่อนหรือพยายามฆ่า สาเหตุเนื่องจากจำเลยบันดาลโทสะโดยถูกนายปรีชาข่มเหงอย่างร้ายแรงในขณะจำเลยเป็นภิกษุอยู่ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
ศาลอาญาพิจารณาแล้วฟังได้ว่าจำเลยพยายามฆ่านายปรีชาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ วางโทษจำคุก ๑๖ ปี ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้ ๘ ปี มีดของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่พอที่จะชี้ว่าจำเลยมีเจตนาจะฆ่า คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานทำร้ายร่างกายถึงสาหัส จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๗(๘) วางโทษจำคุก ๕ ปี ลดรับตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเกิดเรื่องกับนายปรีชาในเวลาประชุม ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นนายปรีชา จำเลยออกจากที่ประชุมไปแล้ว การประชุมก็ยังมีต่อไปจนภายหลังเลิกการประชุม และผู้คนที่มาประชุมกลับไปเกือบหมดแล้ว จำเลยจึงมาทำร้ายนายปรีชา ศาลฎีกาเห็นว่า การทำร้ายมิได้เกิดจากโทสะพลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้าย แต่เป็นกรณีที่เกิดโทสะ แล้วไปเกิดความคิดไตร่ตรองตัดสินใจอย่างหนักในการตกลงใจกระทำผิด ในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ (๔) จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share