คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภายหลังยื่นอุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์โดยว่าไม่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์อีกต่อไปแต่ครั้นแล้วจำเลยกลับยื่นอุทธรณ์ใหม่โดยว่าที่ถอนไปนั้นเพราะหลงเชื่อผู้แนะว่าจะมีการอภัยโทษดังนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์ด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดถึงที่สุดสำหรับจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ใหม่อีกแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2512)

ย่อยาว

คดีนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับการถอนอุทธรณ์โดยภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ตามฟ้องโจทก์ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน แล้วจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2511 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ศาลพิพากษาคดี แต่ในวันรุ่งขึ้นจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์โดยว่าไม่ประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไปอีก ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วครั้นต่อมาในวันที่ 16 เดือนเดียวกัน จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ใหม่อีกฉบับหนึ่งพร้อมกับยื่นคำร้องอ้างเหตุว่า จำเลยได้ถอนอุทธรณ์ฉบับแรกไปเพราะหลงเชื่อที่มีผู้แนะนำว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ครั้นเมื่อทราบความจริงว่าไม่มีการอภัยโทษจึงได้ยื่นอุทธรณ์ใหม่ ซึ่งยังคงอยู่ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่จำเลยจะขอถอนอุทธรณ์แล้วนำมายื่นใหม่ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ ไม่ต้องห้ามเพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่เด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 และจะนำมาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในชั้นศาลชั้นต้นมาใช้บังคับชั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะมาตรา 215 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์เท่านั้น จึงให้รับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยไว้ อัยการโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้คัดค้านในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์นี้

ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อถอนอุทธรณ์ของจำเลยขึ้นวินิจฉัยเบื้องแรกว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ฯลฯ เมื่อถอนไปแล้วถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอนโดยนัยแห่งบทบัญญัตินี้ เมื่อจำเลยขอถอนโดยว่าไม่ประสงค์จะอุทธรณ์ต่อไปหาได้ถอนโดยมีเงื่อนไขเช่นเพื่อจะยื่นใหม่ไม่ ฉะนั้น เมื่อศาลสั่งอนุญาตและไม่ปรากฏว่าโจทก์คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้อุทธรณ์ด้วยคดีย่อมเด็ดขาดสำหรับจำเลยผู้ถอนอุทธรณ์แล้ว จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ใหม่อีกไม่ได้ แม้จะยื่นภายในอายุอุทธรณ์ก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในกรณีขอถอนอุทธรณ์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้อุทธรณ์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้….. ฯลฯ เมื่อถอนไปแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าไม่ประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์จำเลยได้แล้ว ทั้งปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความมิได้อุทธรณ์ด้วยฉะนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดถึงที่สุดสำหรับจำเลยตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้วแม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ใหม่ภายในอายุอุทธรณ์ก็ตาม

พิพากษายืน

Share