คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อรถจักรดีเซลของโจทก์เสียหายเนื่องจากการทำละเมิดและต้องนำมาซ่อมในโรงงานของโจทก์ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักรเครื่องมือกลต่าง ๆ และค่าเสื่อมราคาโรงงาน ส่วนค่าควบคุมนั้นโจทก์ต้องใช้หัวหน้าหน่วยตลอดสายงานมาควบคุมดูแลการซ่อม จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิด เพราะถ้าไม่มีการทำละเมิดเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมดังกล่าว แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 การที่วันเกิดเหตุโจทก์ต้องจัดขบวนรถพิเศษจากสถานีรถไฟนครสวรรค์ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อยกรถจักรที่ตกราง เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอน จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เสียหายไปเพียงใด ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์เช่นกัน ศาลได้กำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานของโจทก์ที่ไปทำการยกหัวรถจักรที่ตกรางให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าอาหารเลี้ยงพนักงานดังกล่าวจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการของนายจรูญได้สั่งให้นายจรูญขับรถยนต์บรรทุก บรรทุกหินเกล็ดเพื่อนำไปส่งที่บริเวณลานจอดเครื่องบินและทางขับที่ฝูงบิน 406พิษณุโลก นายจรูญได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับด้วยความเร็วสูง ไม่ชะลอความเร็วลงเมื่อแล่นผ่านป้ายสัญญาณจราจรทางบกให้ระวังรถไฟ ขับรถเข้าชนรถจักรดีเซลตัวเปล่าของโจทก์ที่กำลังแล่นผ่านมาพอดี ทำให้รถจักรดีเซลตกจากรางไป และโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยรถจักรดีเซลได้รับความเสียหายด้านตัวถังรถส่วนบนและส่วนล่างเสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน 181,472.98 บาท ทางรถไฟไม้หมอนและเครื่องประกอบราง เสียหายเป็นเงิน 17,507.13 บาทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเดินขบวนรถพิเศษ เป็นเงิน 22,000 บาทและต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าแรง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารเป็นเงิน7,179.80 บาท เครื่องสัญญาณไฟวาบอัตโนมัติ ตู้แบตเตอรี่ ต้องเสียหายอีกเป็นเงิน 62,945.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 291,105.22 บาทการที่นายจรูญลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อและขับรถไปตามคำสั่ง และในกิจการของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันนั้นจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจำเลยทั้งสามต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,832.89 บาท รวมเป็นเงิน312,938.11 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 312,938.11 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่รถชนกันครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของพนักงานโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในความเสียหาย และค่าเสียหายของโจทก์ก็ไม่เกิน10,000 บาท โจทก์ไม่ได้เสียเวลาในการประกอบกิจการใด ๆ อันอาจคิดเป็นเงินได้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเพราะคนขับรถของโจทก์ขับรถจักรดีเซลตัวเปล่า ด้วยความประมาท โดยขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวัง ทำให้รถยนต์บรรทุกซึ่งมีนายจรูญขับมาด้วยความระมัดระวังถูกรถจักรดีเซลตัวเปล่า ชนอย่างแรง รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และมิได้เป็นนายจ้างหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับนายจรูญ จำเลยที่ 2 ผู้เดียวรับจ้างกองทัพอากาศซ่อมแซมลานจอดเครื่องบินและทางขับที่ฝูงบิน 406 พิษณุโลก จำเลยที่ 1ไม่มีส่วนร่วมด้วย จำเลยที่ 2 เพียงแต่รับซื้อหินจากจำเลยที่ 1มาทำการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไป ความเสียหายของรถจักรดีเซลตัวเปล่าเสียค่าซ่อมไม่เกิน 5,000 บาท ทางรถไฟ ไม้หมอนและเครื่องประกอบรางเสียหายไม่เกิน 500 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดเดินขบวนรถพิเศษไม่เกิน 1,000 บาท และค่าใช้จ่าย ค่าแรง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารไม่เกิน 500 บาท
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะมูลละเมิดและประมาทเลินเล่อมิได้เกิดจากนายจรูญหากเกิดจากความผิดและความประมาทของโจทก์ และพนักงานลูกจ้างโจทก์เพียงฝ่ายเดียว การที่เกิดเหตุรถชนกันขึ้น จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาก็เกินกว่าความเป็นจริงหากเสียหายจริงก็ไม่เกิน 10,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน176,507.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3ให้ยกเสีย และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 183,507.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักร เครื่องมือกลต่าง ๆ และค่าเสื่อมราคาโรงงาน เป็นต้น เมื่อบุคคลภายนอกทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย และต้องนำมาซ่อมในโรงงานของโจทก์ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนค่าควบคุมนั้น โจทก์ต้องใช้หัวหน้าหน่วยตลอดสายงานมาควบคุมดูแลการซ่อม จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลย เพราะถ้าจำเลยไม่ทำละเมิดเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมดังกล่าว แต่ค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมทุกรายงานการซ่อมตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องแต่ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 43 จึงกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมให้แก่โจทก์รวมจำนวน 10,000 บาท ส่วนค่าจัดขบวนรถพิเศษไปช่วยยกหัวรถจักรที่ตกรางเป็นเงิน 22,000 บาท เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้แน่นอน จึงเป็นค่าเสียหายโดรตรงที่โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเสียหายไปจำนวนเท่านั้นจริง ศาลเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นจำนวน5,000 บาท สำหรับค่าอาหารเป็นเงิน 340 บาท นั้น แม้จะได้ความว่าเป็นค่าอาหารเลี้ยงพนักงานของโจทก์ที่ไปทำการยกหัวรถจักรที่ตกรางแต่เมื่อปรากฏว่า พนักงานเหล่านี้ได้รับเบี้ยเลี้ยงซึ่งศาลล่างทั้งสองก็กำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าอาหารจากจำเลยอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,507.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share