แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบเงินกองทุนสะสมกำหนดให้โจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนให้แก่พนักงานโดยฝากไว้ต่อธนาคาร ระบุรายชื่อพนักงานแต่ละคนมีสิทธิในเงินกองทุน ดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้แก่เงินฝากตาม กองทุนก็ตกเป็นของพนักงาน มิใช่ตกแก่โจทก์ อีกทั้งตามระเบียบ เงินกองทุนไม่มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเบิกเงินจากกองทุน และไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้เงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนแล้วกลับคืน เป็นของโจทก์อีกเงินกองทุนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน ถือเป็น รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (2) แม้โจทก์จะเป็นผู้เบิกเงินกองทุนจากธนาคารมาจ่ายแก่พนักงาน และมีสิทธิหักเงิน ที่เบิกมาชำระหนี้ได้ก่อน อีกทั้งพนักงาน ยังไม่ได้รับเงินจากโจทก์จนกว่าจะพ้นสภาพลูกจ้างก็ตาม ก็หาใช่ ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนอยู่อีกไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 32/27, 47.2.00773, 00775, 00777 ลงวันที่ 26กรกฎาคม 2527 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ ภ.ส.เลขที่ 549ก – ค/2528 ลงวันที่ 11 กันยายน 2528
จำเลยให้การว่า เงินสะสมที่โจทก์จ่ายไปนั้นยังเป็นสิทธิของโจทก์ เป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ยอดเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีของพ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2522 นั้น โจทก์ได้จ่ายแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาดแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนให้แก่พนักงานโดยฝากไว้ต่อธนาคารในนามของเงินกองทุนสะสมพนักงานบริษัท จี.เอส.สตีลจำกัด โดยมีรายชื่อพนักงานแต่ละคนที่มีสิทธิในเงินกองทุนนั้นประกอบการฝาก โจทก์แจ้งยอดเงินสะสมให้พนักงานทราบทุกงวดที่จ่ายเงินสะสมและให้ธนาคารแจ้งยอดเงินสะสมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้พนักงานทราบทุก 6 เดือน เพื่อให้พนักงานรับรู้ยอดเงินกองทุนและควบคุมเงินกองทุนได้ทางอ้อม ดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้แก่เงินฝากตามกองทุนนั้นก็ตกได้แก่พนักงานแต่ละคนตามรายชื่อประกอบการฝากหาได้ตกเป็นของโจทก์ไม่ ระเบียบเงินกองทุนตามเอกสารหมาย จ.19 ไม่มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเบิกเงินจากกองทุนไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์และไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้เงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนแล้วกลับคืนเป็นของโจทก์อีก จึงเป็นการที่โจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานโดยโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนนั้นแล้ว เงินกองทุนดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน เมื่อโจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนจึงเป็นการจ่ายเงินให้แก่พนักงานและเมื่อไม่มีเงื่อนไขให้เงินดังกล่าวคืนกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นการที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่พนักงานอันเป็นลูกจ้างของโจทก์ไปโดยเด็ดขาด ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(2) ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ยังเป็นผู้เบิกเงินกองทุนจากธนาคารมาจ่ายแก่ลูกจ้างและมีสิทธิหักเงินที่เบิกมานั้นชำระหนี้ได้ก่อนอีกทั้งลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินจากโจทก์จนกว่าจะพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างถือไม่ได้ว่าโจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาดนั้น เห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้เบิกเงินกองทุนจากธนาคารมาจ่ายนั้นเป็นเพียงพิธีการที่โจทก์ต้องปฏิบัติต่อธนาคารในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการกองทุนแทนลูกจ้าง หาใช่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนนั้นอยู่อีกไม่การที่โจทก์มีสิทธิหักเงินชำระหนี้ให้ก่อนนั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างว่าเงินกองทุนนั้นยังไม่เป็นของลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินจากกองทุนก็เพราะลูกจ้างปฏิบัติไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างที่จะได้สะสมเงินไว้เป็นก้อนสำหรับใช้เลี้ยงชีพเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง อันมีลักษณะเป็นการที่ลูกจ้างฝากเงินที่โจทก์จ่ายให้เป็นการเด็ดขาดแล้วไว้ในกองทุนเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างเองจึงไม่ใช่เหตุที่จะอ้างได้ว่าโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินให้ลูกจ้างโดยเด็ดขาด
พิพากษายืน.